วันศุกร์, มีนาคม 28, 2557

ฝันถึงฝั่งที่ ลา ฮิสปันโยลา

                                               บทความนี้แปลมาจากต้นฉบับบทความภาษาอังกฤษที่แหนเขียน

ลา ฮิสปันโยลา (La Hispaniola) หรือมีความหมายแปลตรงตัวว่าเกาะของชาวสเปน ดินแดนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1492 เป็นการค้นพบโลกใหม่ (New World) ครั้งแรกในทวีปอเมริกา ปัจจุบัน ลา ฮิสปันโยลา ประกอบไปด้วยประเทศเฮติซึ่งมีชายแดนทางตะวันออกของประเทศติดกับประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน

แผนการเดินทางล่องเรือรอบโลกของเรามีจุดเริ่มต้นที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน เพราะเป็นที่ๆ มีการทำสัญญาซื้อเรือใบ “ดี” เกิดขึ้น ในระหว่างที่ครอบครัว “โกเมส” กำลังเตรียมความพร้อมของเรือใบ ทั้งเครื่องยนต์ ระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้า การกรองน้ำ เสบียงอาหารและการปรับตัวขนของย้ายขึ้นบ้านใหม่อยู่นั้น เราได้ใช้เวลาที่ผ่านมากว่าสามเดือนอาศัยอยู่ที่เมืองลูเปรอน (Luperon) ในจังหวัดเปอร์โต พลาต้า (Puerto Plata) ชายฝั่งทางทิศเหนือของสาธารณรัฐโดมินิกัน เมืองลูเปรอน แห่งนี้ถือเป็นสวรรค์ของบรรดานักเดินเรือ เนื่องจากมีความปลอดภัยทางด้านภูมิศาสตร์ เป็นกำแพงหลบพายุเฮอริเคนตามธรรมชาติที่ปลอดภัยที่สุดในบรรดาหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลแคริบเบียน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 สถานที่แห่งนี้ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังเช่นประเทศเพื่อนบ้านเลย

หากเราถามเด็กรุ่นใหม่ว่ารู้จักประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันหรือไม่ หลายคนหรืออาจจะทั้งหมดคงจะทำหน้างงและถามว่าคือที่ใด บางคนอาจจะสับสนกับประเทศโดมินิกา แต่สำหรับผู้ที่สนใจหรือศึกษาด้านประวัติศาสตร์คงจะรู้จักกันดี  ทุกสิ่งเริ่มต้นขึ้นที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นดินแดนแห่งแรกในโลกใหม่ที่เมืองลา อิซาเบล่า (La Isabela) เมืองถัดจากลูเปรอน สถานที่ตั้งรกรากของชาวยุโรปแห่งแรกในทวีปอเมริกา พิธีสวดมนต์ทางคาทอลิคครั้งแรกในทวีปอเมริกา การสร้างโบสถ์แห่งแรกในดินแดนโลกใหม่ เมืองหลวงแห่งแรกในทวีปอเมริกาซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นเมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และยังเป็นเมืองหลวงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแคริบเบียน นั่นคือ ซานโต โดมิงโก (Santo Domingo)

ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันมีความน่าสนใจทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม วัฒนธรรมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ประวัติศาสตร์ การผสมผสานของชาวยุโรปและชาวท้องถิ่นในทวีปอเมริกาเดิม ส่งผลให้ชาวท้องถิ่นของสาธารณรัฐโดมินิกันจึงมีหน้าตาคล้ายลูกผสมและมีผิวสีต่างจากเพื่อนบ้านผิวเข้มอย่างประเทศเฮติ ปัจจุบันสาธารณรัฐโดมินิกันมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ อุตสาหกรรมหลักของประเทศคือ การท่องเที่ยว เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าทะเลแคริบเบียนเป็นสถานที่ในฝันของผู้ที่รักทะเล มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ และมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่และน่าสนใจ การส่งออกหลัก คือ ข้าวสาร กล้วย ไก่ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีดินแดนแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ นอกจากนั้นยังส่งออกให้แก่ประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา และเวเนซูเอลา เป็นต้น ฉันสังเกตเห็นทิวทัศน์ของประเทศเขียวขจีที่เต็มไปด้วยไร่กล้วย อาหารหลักของชาวโดมินิกันแทนที่จะเป็นมันฝรั่งเหมือนชาวยุโรปแต่กลับเป็นกล้วยที่เป็นเกษตกรรมหลักของประเทศ อาหารประจำชาติและอาหารท้องถิ่นที่เสิร์ฟตามร้านอาหารหรือภัตตาคารต่างๆ ต้องมีกล้วยเป็นองค์ประกอบหลัก รวมถึงถั่วแดงที่มักจะขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหาร

สิ่งที่ฉันประทับใจมากที่สุดเกี่ยวกับสาธารณรัฐโดมินิกันเห็นจะเป็นประชาชนของประเทศนี้ ทุกคนมีมิตรไมตรี มีน้ำใจคอยช่วยเหลือเสมอ ตอนที่เราเดินทางมาถึงวันแรกๆ ฉันถามฌูเอาว่า เขาช่วยเหลือเราด้วยความเต็มใจหรือหวังผลตอบแทนจากนักท่องเที่ยวอย่างเรา คำตอบที่ได้จากชาวท้องถิ่นสร้างความประทับใจให้แก่เราทั้งคู่เป็นอย่างมาก และหวังว่าทุกคนคงรู้สึกเช่นเดียวกันกับเรา “ประเทศของเราเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยว เราไม่จำเป็นต้องถามว่าคุณมาจากประเทศไหน มาท่องเที่ยวนานเท่าไร ตราบเท่าที่คุณเป็นนักท่องเที่ยวเรายินดีต้อนรับสู่ประเทศของเรา ทุกเพศ วัย และเชื้อชาติ ประเทศเราเป็นประเทศที่ประชากรมีน้ำใจมากที่สุดแห่งหนึ่ง อาจจะเป็นประเทศเดียวในโลกก็ว่าได้ที่คุณเพิ่งได้รู้จักกับคนแปลกหน้าชาวท้องถิ่นครั้งแรก วันรุ่งขึ้นคุณอาจจะเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดเลยก็ได้”

รัฐบาลของสาธารณรัฐโดมินิกันสนับสนุนและเน้นการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยที่พยายามจะรักษาความเป็นธรรมชาติของประเทศไว้ให้ได้มากที่สุด ป่าชายเลนทุกแห่งถือเป็นสถานที่อนุรักษณ์ ประชาชนไม่สามารถระบายน้ำเสียโดยตรงสู่แม่น้ำและทะเลที่บริเวณป่าชายเลนหรือใกล้เคียง เพื่อให้ระบบนิเวศน์มีความบริสุทธิ์ สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำได้ตามธรรมชาติ หากใครทำลายหรือกระทำการใดที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ถือว่าการกระทำนั้นขัดต่อกฎหมายของประเทศ การอนุรักษ์ดังกล่าวยังเป็นนโยบายการบริหารหลักของประเทศที่มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานมาแล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามรักษาความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศให้ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวด้วย

ถึงแม้ว่าสาธารณรัฐโดมินิกันจะสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหารและทรัพยากรธรรมชาติ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ น้ำ เนื่องจากระบบการผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประเทศยังไม่ได้มาตราฐานเท่าไหร่นัก มีสารปนเปื้อนจำนวนมาก ประชากรของประเทศส่วนใหญ่จำเป็นต้องบริโภคน้ำดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการการฆ่าเชื้อจากโรงงานผู้ผลิตน้ำดื่มต่างๆ รัฐบาลของประเทศถึงกับกล่าวเตือนประชากรรวมถึงนักท่องเที่ยวว่าควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา ส่งผลให้มีบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มจำนวนมากให้เลือกในสาธารณรัฐโดมินิกันด้วยโฆษณาและราคาที่แตกต่างกัน

ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันเป็นเกาะที่ทางทิศเหนือหันหน้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนทางตอนใต้หันหน้าสู่ทะเลแคริบเบียนทำให้มีท่าเรือทางการค้าและการประมงขนาดใหญ่กว่า 10 แห่ง เมืองลูเปรอนที่เราได้ใช้เวลาอยู่แม้ว่าจะเป็นเมืองชายฝั่งทางตอนเหนือของประเทศแต่มีประชากรในหมู่บ้านไม่มากนัก อีกทั้งราคาน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์เรือมีราคาสูง การประมงของเมืองลูเปรอนจึงเป็นเพียงแค่การออกเรือหาปลาจำนวนเพียงพอให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน และจำเป็นต้องพึ่งพาท่าเรือที่มีขนาดใหญ่กว่าในตัวจังหวัดเปอร์โต พลาต้า ที่เมืองลูเปรอนมีเรือประมงออกหาปลาอาทิตย์ละ 6 ลำ และมีเพียงแค่ 2 ลำ ที่ออกเรืออยู่นอกชายฝั่งเป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วจึงกลับเข้าฝั่ง ตั้งแต่ที่เราเดินทางมาถึงยังไม่มีโอกาสได้ทานปลาในเมืองนี้เลย!

ปัจจุบัน เรือใบ “ดี” ยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมออกสู่ท้องทะเลกว้างที่อ่าวเมืองลูเปรอน ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางและเป็นไปตามแผนมากขึ้น ตอนนี้เรารอเวลาที่มีอากาศเหมาะสมเพื่อออกเดินทางลงทางตอนใต้ของลา ฮิสปันโยลา โดยมีจุดหมายไปที่มลรัฐเปอร์โต ริโก ของประเทศสหรัฐอเมริกา
วิวทะเลที่เมืองเปอร์โต พลาต้า
วิวทะเลที่ลา อิซาเบล่า
โบสถ์ในเมืองเปอร์โต พลาต้า
วิวเมืองเปอร์โต พลาต้า
วิวอ่าวลูเปรอน
โบสถ์แห่งแรกในทวีปอเมริกา
ร้านขายผลไม้ริมทาง
กิจกรรมทุกเช้าวันอาทิตย์ สอนเด็กล่องเรือใบ ที่อ่าวลูเปรอน
โนแอลยืนชมพระอาทิตย์ตกดินในเรือ ที่อ่าวลูเปรอน
พ่อ-ลูกล่องเรือ ที่อ่าวลูเปรอน
สเต็กปลา กับกล้วยทอดสไตล์ท้องถิ่น
ถนนภายในหมู่บ้าน ที่เมืองลูเปรอน
ร้านขายผักผลไม้เจ้าประจำในเมืองลูเปรอน
วิวอ่าวลูเปรอน

วันอาทิตย์, มีนาคม 16, 2557

สถานการณ์คลี่คลายและดีขึ้นเรื่อยๆ

ตั้งแต่ที่เราได้ย้ายท่าเรือ (ปัจจุบันได้เทียบเรือที่ท่าเรือส่วนตัวของเพื่อนชาวโปรตุเกส) เราพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีไปทีละเรื่อง ตอนนี้ระบบการทำงานทุกอย่างของเรือพร้อมที่จะออกไปทดลองล่องเรือเพื่อตรวจความเรียบร้อยให้แน่ใจอีกครั้ง รอเพียงแค่วันและโอกาสที่เหมาะสมทางด้านสภาพอากาศ เราอยากจะเดินทางล่องเรือออกจากประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันไปกับผู้ที่มีประสบการณ์และชำนาญเส้นทางเดินเรือในบริเวณนี้ แต่การกระทำเช่นนั้นจำเป็นต้องประสานงานและหากัปตันเรือที่สามารถเดินทางไปกับเรา เราต้องการให้การเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้มีความปลอดภัยเพราะเรายังไม่เคยเดินเรือออกจากท่าเรือเมืองลูเปรอนนี้เลย

ก่อนอื่นเราต้องขอขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง คำนึงถึงความปลอดภัย สภาพความเป็นอยู่และสุขภาพของเรา เราปกติสุขดีและสามารถจัดการทุกอย่างได้ตามความสามารถที่เราพอมี เราไม่อยากจะเสี่ยงอันตรายต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม ความปลอดภัยคือสิ่งที่เราคำนึงอยู่เสมอ เราคำนึงถึงสภาพการเงินด้วยเช่นกันแต่ก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่นัก

ตอนนี้เรือใบ ดีมีเครื่องยนต์ แบตเตอร์รี่ เครื่องชาร์ตแบตเตอร์รี่ เครื่องแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำงานปกติ ใบเรือและคานมีสภาพดี พร้อมที่จะกางใบออกเดินทาง

ส่วนระบบอื่นๆ ที่ไม่ได้ส่งผลต่อความปลอดภัยของการเดินทางเท่าไหร่นักก็สามารถบำรุงรักษาและซ่อมแซมทีละอย่างได้ต่อไปภายหลัง ตัวอย่างเช่น เครื่องปั่นไฟที่เราต้องใช้ในการปรุงอาหารเนื่องจากเตาของเราเป็นระบบไฟฟ้า แต่ตอนนี้เราก็มีเตาแก๊สที่สามารถทำกับข้าวได้แล้ว แต่ถึงกระนั้นเครื่องปั่นไฟก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการทำงานของเครื่องปรับอากาสแม้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นก็ตาม (หากใครสนใจอยากซื้อเครื่องปรับอากาศจากเราๆ ก็ยินดี เพื่อที่เราจะได้มีที่ว่างบนเรือเพิ่มขึ้น)

เวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันหมดไปกับการเปลี่ยนท่อและหัวฉีดต่างๆ บนเรือ อาจจะเป็นงานที่ทำให้เราสกปรกและส่งกลิ่นเหม็นหน่อย แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราควรเปลี่ยนและบำรุงรักษาท่อต่างๆ ให้ใหม่อยู่เสมอ และถ้าเราไม่ทำใครจะทำให้เรา

ในส่วนของระบบไฟฟ้าทุกอย่างทำงานปกติแต่เรายังขาดเครื่องมือแผนที่อัตโนมัติ (ผู้ที่ดูแลเรือเราก่อนหน้าที่เราจะเดินทางมาที่สาธารณรัฐโดมินิกัน นำมาให้เราแล้วแต่เป็นเครื่องคนละรุ่นที่ไม่ได้มากลับเรือของเราจึงไม่สามารถทำงานร่วมกันได้) ซึ่งผู้ที่ดูแลเรือจะนำแผนที่อัตโนมัติรุ่นที่เป็นอุปกรณ์ของเรือของเรามาให้ในเร็ววันนี้ เช่นเดียวกันกับเครื่องยนต์เรือบดที่เราก็ยังรอให้ผู้ดูแลเรือนำมาให้ แต่อย่างน้อยเราก็มีอุปกรณ์เหล่านี้รอเราอยู่

สิ่งต่อไปที่อยู่ในรายการที่เราต้องซ่อมแซมคือ เครื่องกรองน้ำ เราได้ทดลองและตรวจเช็คสภาพเครื่องกรองน้ำที่เรามีอยู่ ผลคือทำงานปกติ แต่เรายังไม่สามารถทดสอบกับน้ำในอ่าวที่เราเทียบเรืออยู่ได้ในขณะนี้เพราะน้ำในบริเวณนี้มีคุณภาพที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก เราจึงต้องรอไปยังที่ๆ น้ำทะเลสะอาดกว่านี้เพื่อที่จะทดสอบการทำงานทั้งระบบว่าเราต้องเปลี่ยนสารเคมีของเครื่องกรองน้ำหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข่าวดีคือตอนนี้ระบบทั้งหมดทำงานปกติ และเรือของเราไม่มีรูรั่วให้น้ำซึมเข้ามา

เส้นทางการเดินทางของเราจากที่นี่ เราตัดสินใจจะเดินทางตรงไปยังประเทศเปอร์โต ริโก้ ขนานเส้นทางไปยังเกาะต่างๆ ในทะเลแคริบเบียน เช่น อะรูบ้า บอแนร์ คูราเซา และหลังจากนั้นจะเดินทางไปยังประเทศเวเนซูเอลา โคลัมเบีย และปานามา

เรายังรู้สึกหดหู่ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจต่อการเดินทางของเราจากประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการทั้งหมด มาเก๊า และประเทศไทย แต่อย่างน้อยมีผู้คนจำนวนมากส่งข้อความหาเรา เป็นถ้อยคำที่สนับสนุนและให้กำลังใจที่ทำให้เรารู้สึกตื้นตันตลอดการเดินทาง เราก้าวไปอย่างช้าๆ ในทุกด้านเพราะเราไม่ได้อยู่ในสนามการแข่งขันและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่เราคำนึงมากที่สุด

ขอขอบคุณทุกคน

สายตาของคนรอบข้าง คิดว่าเราเป็นยังไงกันนะ

ธงของประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน  
ในสถานที่ๆ มีเวลาต่างจากมาเก๊า 12 ชม. และประเทศไทย 13 ชม. ทุกครั้งที่เราแนะนำตัวกับผู้ที่เราพบเป็นครั้งแรกมักจะเป็นประโยคที่ว่า ฉันเป็นคนไทย สามีเป็นชาวโปรตุเกสแต่เราอาศัยที่ประเทศจีน ผู้ที่ได้ฟังก็สงสัยและทำหน้างงทุกครั้งไป ยังไม่รวมถึงปฏิกิริยาที่พวกเขารู้ว่าฌูเอาทำงานให้แก่รัฐบาลจีน! แล้วมาเก๊าล่ะเขาคิดยังไงกันบ้าง เวลาที่เราพูดถึงมาเก๊าทุกครั้งเราต้องเอ่ยถึงประเทศจีน และถึงแม้ว่าต้องอ้างอิงถึงประเทศจีนแล้ว มีผู้คนน้อยกว่า 10 % ที่รู้จักว่ามาเก๊าเป็นอย่างไรและตั้งอยู่ที่ไหน นอกเหนือจากนั้น ยิ่งน่าแปลกใจขึ้นไปอีกที่หลายคนไม่รู้ว่าอาหารไทยมีรสชาดเผ็ดร้อน

เรารู้จักและพบกับชาวท้องถิ่นจำนวนพอๆ กับที่ได้รู้จักและพบกับนักเดินเรือ นักเดินเรือส่วนใหญ่ที่เราได้พบเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ เส้นทางการเดินทางทางทะเลไปยังประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่คุ้นเคยกันดีในหมู่นักเดินเรือ พวกเขาส่วนใหญ่ก็รักและหลงใหลในประเทศไทยของเรา อย่างไรก็ตาม เรามีโอกาสได้พบกับนักเดินเรือเพียงคนเดียวที่เคยล่องเรือไปยังมาเก๊าในช่วงปีทศวรรษ 80 ตอนที่เขาเคยทำงานอยู่ที่ฮ่องกง

นักเดินเรือส่วนใหญ่ที่นี่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา หลักๆ แล้วเป็นเพราะใกล้กับประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันและอากาศในหมู่เกาะแคริบเบียนถือได้ว่าเป็นสวรรค์ของพวกเขา ส่วนชาวเอเชียไม่ค่อยพบเท่าไหร่นักอาจเป็นเพราะสาธารณรัฐโดมินิกันอยู่ไกลจากทวีปเอเชียมากเกินไป แต่อย่างน้อย ฉันได้รู้จักกับชาวพม่าคนหนึ่งที่เป็นกัปตันเรือให้แก่เจ้าของเรือชาวอิตาลี

ภาษาราชการที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน คือ ภาษาสเปน และเป็นภาษาเดียวที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่นี่ใช้สื่อสารกัน ผู้คนในหมู่บ้านน้อยคนนักที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ฌูเอาสามารถพูดภาษาสเปนถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีสำเนียงเหมือนเจ้าของภาษาแต่ก็เรียกว่าใกล้เคียง การที่ฌูเอาสามารถสื่อสารกับชาวบ้านท้องถิ่นด้วยภาษาเดียวกันกับพวกเขา มักจะสร้างความอยากรู้แก่ชาวบ้านว่า ฌูเอาที่ชาวบ้านมองว่าเป็น ฝรั่งเป็นชาวอะไรและมาจากประเทศไหนที่ไม่ประเทศสเปน ชาวบ้านคนหนึ่งทายว่าฌูเอาน่าจะมาจากประเทศชิลี ทำไมน่ะหรอ เพราะไม่เพียงแต่เขาสามารถพูดภาษาสเปนได้แล้ว เขายังมีภรรยาเป็นชาวเอเชีย ซึ่งประเทศชิลีมีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ส่วนฉันน่ะหรือ ชาวบ้านไม่ได้คิดว่าฉันเป็นคนจีน เพราะฉันมีตาสองชั้นและโต แต่ประเด็นอยู่ที่พวกเขาส่วนใหญ่คิดว่าชาวเอเชียทั้งหมดคือชาวจีน เลยทำให้คนส่วนใหญ่เดาไม่ถูกว่าฉันมาจากประเทศอะไร แต่อย่างน้อยฉันยังไม่เคยมีประสบการณ์เช่นเดียวกันกับฌูเอาที่มีชาวบ้านถามว่าเขามาจากไหน ฌูเอาตอบไปว่าประเทศโปรตุเกส และบุคคลๆ นั้นก็ตอบมาพลันว่า อ๋อ ประเทศโปรตุเกส อยู่ทวีปอเมริกาใต้ !