บทความนี้แปลมาจากต้นฉบับบทความภาษาอังกฤษที่แหนเขียน
ลา ฮิสปันโยลา (La Hispaniola) หรือมีความหมายแปลตรงตัวว่าเกาะของชาวสเปน ดินแดนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1492 เป็นการค้นพบโลกใหม่ (New World) ครั้งแรกในทวีปอเมริกา ปัจจุบัน ลา ฮิสปันโยลา ประกอบไปด้วยประเทศเฮติซึ่งมีชายแดนทางตะวันออกของประเทศติดกับประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน
แผนการเดินทางล่องเรือรอบโลกของเรามีจุดเริ่มต้นที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน เพราะเป็นที่ๆ มีการทำสัญญาซื้อเรือใบ “ดี” เกิดขึ้น ในระหว่างที่ครอบครัว “โกเมส” กำลังเตรียมความพร้อมของเรือใบ ทั้งเครื่องยนต์ ระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้า การกรองน้ำ เสบียงอาหารและการปรับตัวขนของย้ายขึ้นบ้านใหม่อยู่นั้น เราได้ใช้เวลาที่ผ่านมากว่าสามเดือนอาศัยอยู่ที่เมืองลูเปรอน (Luperon) ในจังหวัดเปอร์โต พลาต้า (Puerto Plata) ชายฝั่งทางทิศเหนือของสาธารณรัฐโดมินิกัน เมืองลูเปรอน แห่งนี้ถือเป็นสวรรค์ของบรรดานักเดินเรือ เนื่องจากมีความปลอดภัยทางด้านภูมิศาสตร์ เป็นกำแพงหลบพายุเฮอริเคนตามธรรมชาติที่ปลอดภัยที่สุดในบรรดาหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลแคริบเบียน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 สถานที่แห่งนี้ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังเช่นประเทศเพื่อนบ้านเลย
หากเราถามเด็กรุ่นใหม่ว่ารู้จักประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันหรือไม่ หลายคนหรืออาจจะทั้งหมดคงจะทำหน้างงและถามว่าคือที่ใด บางคนอาจจะสับสนกับประเทศโดมินิกา แต่สำหรับผู้ที่สนใจหรือศึกษาด้านประวัติศาสตร์คงจะรู้จักกันดี ทุกสิ่งเริ่มต้นขึ้นที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นดินแดนแห่งแรกในโลกใหม่ที่เมืองลา อิซาเบล่า (La Isabela) เมืองถัดจากลูเปรอน สถานที่ตั้งรกรากของชาวยุโรปแห่งแรกในทวีปอเมริกา พิธีสวดมนต์ทางคาทอลิคครั้งแรกในทวีปอเมริกา การสร้างโบสถ์แห่งแรกในดินแดนโลกใหม่ เมืองหลวงแห่งแรกในทวีปอเมริกาซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นเมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และยังเป็นเมืองหลวงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแคริบเบียน นั่นคือ ซานโต โดมิงโก (Santo Domingo)
ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันมีความน่าสนใจทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม วัฒนธรรมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ประวัติศาสตร์ การผสมผสานของชาวยุโรปและชาวท้องถิ่นในทวีปอเมริกาเดิม ส่งผลให้ชาวท้องถิ่นของสาธารณรัฐโดมินิกันจึงมีหน้าตาคล้ายลูกผสมและมีผิวสีต่างจากเพื่อนบ้านผิวเข้มอย่างประเทศเฮติ ปัจจุบันสาธารณรัฐโดมินิกันมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ อุตสาหกรรมหลักของประเทศคือ การท่องเที่ยว เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าทะเลแคริบเบียนเป็นสถานที่ในฝันของผู้ที่รักทะเล มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ และมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่และน่าสนใจ การส่งออกหลัก คือ ข้าวสาร กล้วย ไก่ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีดินแดนแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ นอกจากนั้นยังส่งออกให้แก่ประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา และเวเนซูเอลา เป็นต้น ฉันสังเกตเห็นทิวทัศน์ของประเทศเขียวขจีที่เต็มไปด้วยไร่กล้วย อาหารหลักของชาวโดมินิกันแทนที่จะเป็นมันฝรั่งเหมือนชาวยุโรปแต่กลับเป็นกล้วยที่เป็นเกษตกรรมหลักของประเทศ อาหารประจำชาติและอาหารท้องถิ่นที่เสิร์ฟตามร้านอาหารหรือภัตตาคารต่างๆ ต้องมีกล้วยเป็นองค์ประกอบหลัก รวมถึงถั่วแดงที่มักจะขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหาร
สิ่งที่ฉันประทับใจมากที่สุดเกี่ยวกับสาธารณรัฐโดมินิกันเห็นจะเป็นประชาชนของประเทศนี้ ทุกคนมีมิตรไมตรี มีน้ำใจคอยช่วยเหลือเสมอ ตอนที่เราเดินทางมาถึงวันแรกๆ ฉันถามฌูเอาว่า เขาช่วยเหลือเราด้วยความเต็มใจหรือหวังผลตอบแทนจากนักท่องเที่ยวอย่างเรา คำตอบที่ได้จากชาวท้องถิ่นสร้างความประทับใจให้แก่เราทั้งคู่เป็นอย่างมาก และหวังว่าทุกคนคงรู้สึกเช่นเดียวกันกับเรา “ประเทศของเราเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยว เราไม่จำเป็นต้องถามว่าคุณมาจากประเทศไหน มาท่องเที่ยวนานเท่าไร ตราบเท่าที่คุณเป็นนักท่องเที่ยวเรายินดีต้อนรับสู่ประเทศของเรา ทุกเพศ วัย และเชื้อชาติ ประเทศเราเป็นประเทศที่ประชากรมีน้ำใจมากที่สุดแห่งหนึ่ง อาจจะเป็นประเทศเดียวในโลกก็ว่าได้ที่คุณเพิ่งได้รู้จักกับคนแปลกหน้าชาวท้องถิ่นครั้งแรก วันรุ่งขึ้นคุณอาจจะเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดเลยก็ได้”
รัฐบาลของสาธารณรัฐโดมินิกันสนับสนุนและเน้นการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยที่พยายามจะรักษาความเป็นธรรมชาติของประเทศไว้ให้ได้มากที่สุด ป่าชายเลนทุกแห่งถือเป็นสถานที่อนุรักษณ์ ประชาชนไม่สามารถระบายน้ำเสียโดยตรงสู่แม่น้ำและทะเลที่บริเวณป่าชายเลนหรือใกล้เคียง เพื่อให้ระบบนิเวศน์มีความบริสุทธิ์ สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำได้ตามธรรมชาติ หากใครทำลายหรือกระทำการใดที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ถือว่าการกระทำนั้นขัดต่อกฎหมายของประเทศ การอนุรักษ์ดังกล่าวยังเป็นนโยบายการบริหารหลักของประเทศที่มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานมาแล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามรักษาความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศให้ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวด้วย
ถึงแม้ว่าสาธารณรัฐโดมินิกันจะสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหารและทรัพยากรธรรมชาติ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ น้ำ เนื่องจากระบบการผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประเทศยังไม่ได้มาตราฐานเท่าไหร่นัก มีสารปนเปื้อนจำนวนมาก ประชากรของประเทศส่วนใหญ่จำเป็นต้องบริโภคน้ำดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการการฆ่าเชื้อจากโรงงานผู้ผลิตน้ำดื่มต่างๆ รัฐบาลของประเทศถึงกับกล่าวเตือนประชากรรวมถึงนักท่องเที่ยวว่าควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา ส่งผลให้มีบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มจำนวนมากให้เลือกในสาธารณรัฐโดมินิกันด้วยโฆษณาและราคาที่แตกต่างกัน
ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันเป็นเกาะที่ทางทิศเหนือหันหน้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนทางตอนใต้หันหน้าสู่ทะเลแคริบเบียนทำให้มีท่าเรือทางการค้าและการประมงขนาดใหญ่กว่า 10 แห่ง เมืองลูเปรอนที่เราได้ใช้เวลาอยู่แม้ว่าจะเป็นเมืองชายฝั่งทางตอนเหนือของประเทศแต่มีประชากรในหมู่บ้านไม่มากนัก อีกทั้งราคาน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์เรือมีราคาสูง การประมงของเมืองลูเปรอนจึงเป็นเพียงแค่การออกเรือหาปลาจำนวนเพียงพอให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน และจำเป็นต้องพึ่งพาท่าเรือที่มีขนาดใหญ่กว่าในตัวจังหวัดเปอร์โต พลาต้า ที่เมืองลูเปรอนมีเรือประมงออกหาปลาอาทิตย์ละ 6 ลำ และมีเพียงแค่ 2 ลำ ที่ออกเรืออยู่นอกชายฝั่งเป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วจึงกลับเข้าฝั่ง ตั้งแต่ที่เราเดินทางมาถึงยังไม่มีโอกาสได้ทานปลาในเมืองนี้เลย!
ปัจจุบัน เรือใบ “ดี” ยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมออกสู่ท้องทะเลกว้างที่อ่าวเมืองลูเปรอน ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางและเป็นไปตามแผนมากขึ้น ตอนนี้เรารอเวลาที่มีอากาศเหมาะสมเพื่อออกเดินทางลงทางตอนใต้ของลา ฮิสปันโยลา โดยมีจุดหมายไปที่มลรัฐเปอร์โต ริโก ของประเทศสหรัฐอเมริกา
วิวทะเลที่เมืองเปอร์โต พลาต้า |
วิวทะเลที่ลา อิซาเบล่า |
โบสถ์ในเมืองเปอร์โต พลาต้า |
วิวเมืองเปอร์โต พลาต้า |
วิวอ่าวลูเปรอน |
โบสถ์แห่งแรกในทวีปอเมริกา |
ร้านขายผลไม้ริมทาง |
กิจกรรมทุกเช้าวันอาทิตย์ สอนเด็กล่องเรือใบ ที่อ่าวลูเปรอน |
โนแอลยืนชมพระอาทิตย์ตกดินในเรือ ที่อ่าวลูเปรอน |
พ่อ-ลูกล่องเรือ ที่อ่าวลูเปรอน |
สเต็กปลา กับกล้วยทอดสไตล์ท้องถิ่น |
ถนนภายในหมู่บ้าน ที่เมืองลูเปรอน |
ร้านขายผักผลไม้เจ้าประจำในเมืองลูเปรอน |
วิวอ่าวลูเปรอน |
0 comments:
แสดงความคิดเห็น