วันอังคาร, พฤศจิกายน 11, 2557

ประสบการณ์ช้อปปิ้งที่เปอร์โตริโก

                                            บทความนี้แปลมาจากต้นฉบับบทความภาษาอังกฤษที่แหนเขียน

การช้อปปิ้งถือป็นรายจ่ายที่เราต้องลดลงเป็นอันดับแรกตั้งแต่ที่เราเริ่มโครงการล่องเรือรอบโลก แต่สำหรับสาวนักช้อปอย่างฉันที่เคยซื้อรองเท้าแบบเดียวกันแต่คนละสีหลายๆ คู่ ฉันหาข้ออ้างในการช้อปปิ้งได้เสมอ ตั้งแต่ที่เราเริ่มอาศัยบนเรือใบฉันเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการช้อปปิ้งและซื้อเสื้อผ้า ตอนนี้ฉันซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น (เชื่อหรือไม่) เพราะยิ่งฉันมีเสื้อผ้ามากเท่าไหร่ ฉันต้องซักเสื้อผ้าทั้งหมดด้วยมือ เพราะเราไม่มีเครื่องซักผ้าบนเรือ และยิ่งเสื้อผ้าที่มีราคาแพงเท่าไหร่ เงินในบัญชีของฉันยิ่งมีน้อยลงเท่านั้น การที่เรามีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้เราเห็นลำดับความสำคัญของสิ่งรอบตัวเราเปลี่ยนไป แทนที่จะใช้จ่ายรุ่ยร่ายซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมหรือเครื่องสำอาง เราหมดเงินไปกับของอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะอาหาร ทำไมน่ะหรือ ทุกคนคงคิดว่าเราคงเดินไปตลาดสดหรือซุปเปอร์มาเก็ตได้ตลอดเวลา แต่ในทางกลับกันเราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ตอนนี้เราอยู่ที่ประเทศเปอร์โตริโกถือว่าเราโชคดีมากที่เราสามารถหาซื้ออาหารได้เกือบจะทุกประเภท รวมทั้งเครื่องปรุงอาหารไทยหรืออาหารอื่นๆ โดยที่ราคาที่ไม่แพงมากนัก ปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่สามารถเดินหิ้วถุงช้อปปิ้งและอุ้มมาเรีย ดีที่มีน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัมเดินกลับมาที่เรือ ระยะทางใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง แท็กซี่เป็นทางเลือกนึงแต่ราคาค่าโดยสารที่เปอร์โตริโกก็ถือว่าแพงเอาการอยู่ ทำไมไม่ขึ้นรถเมล์ล่ะ ที่นี่ไม่มีรถโดยสารประจำทาง! ประชากรที่นี่มีกำลังซื้อทำให้คนส่วนใหญ่มีรถยนต์ส่วนตัว รถเมล์จึงไม่ใช่สิ่งจะเป็นในชีวิตประจำวันของคนท้องถิ่น ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีการวางแผนจำนวนเสบียงอาหารอย่างรอบคอบให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการกินทิ้งกินขว้างตลอดการเดินทาง เพราะเราก็ไม่รู้ว่าสถานที่หรือท่าเรือต่อไปที่เราจะเดินทางไปถึงจะมีอาหารอุดมสมบูรณ์หรือไม่ 

ฉันโชคดีที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่จากครอบครัวเรือ ฟาตา มอร์กานา (Fata Morgana) เขาเริ่มออกเดินทางก่อนหน้าเราและมีประสบการณ์มาก่อน เราแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และความคิดเห็นจากมุมมองของคนที่มากันจากคนละซีกโลก หรือแม้กระทั่งการจัดการเรื่องเงิน ครอบครัวของเราทั้งสองใช้เวลาด้วยกันมาระยะหนึ่งตั้งแต่ที่ประเทศสาธารณะรัฐโดมินิกันและมาจนกระทั่งที่เปอร์โตริโก ฉันมีโอกาสได้ไปช้อปปิ้งตามประสาสาวๆ กับมิร่า (Mira) แม่บ้านของเรือ ฟาตา มอร์กานา (Fata Morgana) ที่ร้านขายของมือสองซัลเวชั่น อาร์มี่ (Salvation Army) ในตัวเมืองปงเซ่ (Ponce) ของเปอร์โตริโก ขอย้อนกลับไปตอนที่เราพยายามจะบริจาคข้าวของเครื่องใช้ก่อนที่จะเดินทางออกจากมาเก๊ามาอาศัยบนเรือใบ เราพยายามติดต่อองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรต่างๆ สอบถามเพื่อจะนำเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวอื่นๆ บริจาคให้แก่องค์กร แต่คำตอบที่เราได้กลับมาคือเขาไม่ต้องการสิ่งของแต่ต้องการเงินบริจาค นี่เป็นตัวอย่างการทำงานของหน่วยงานในมาเก๊าทั้งที่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลมาเก๊าปีละหลายล้านเหรียญแต่ยังต้องการเงินบริจาคเพิ่มเติม เอาเป็นว่าประสบการณ์ที่ฉันมีที่เมืองปงเซ่ (Ponce) ในเปอร์โตริโกดีกว่าที่มาเก๊าหลายเท่า ภายในร้านขายของมือสองของหน่วยงาน ซัลเวชั่น อาร์มี่ (Salvation Army) มีข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า และสิ่งของอื่นๆ จำนวนมากอยู่ แต่หลักๆ แล้วเห็นจะเป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้ามากกว่า ฉันตั้งใจไปที่นี่เพื่อเลือกซื้อเสื้อผ้าให้มาเรีย ดีโดยเฉพาะ เพราะอย่างที่เค้าว่าเด็กโตเร็วเหมือนสายฟ้าแล่บ ฉันไม่ถือเรื่องเสื้อผ้ามือสองถ้าสภาพยังดีอยู่ เสื้อผ้าเด็กที่มีอายุการใช้งานสั้นเพราะเด็กส่วนใหญ่โตกันเร็ว มิร่า (Mira) บอกกับฉันว่าสินค้าทั้งหมดภายในร้านราคาถูกและเราสามารถหาสาขาต่างของร้าน ซัลเวชั่น อาร์มี่ (Salvation Army) ได้ทั่วไปในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ฉันถึงกับอึ้งตอนจ่ายเงิน ฉันไม่ได้คาดหวังว่าสินค้าจะมีราคาถูกขนาดนี้ เสื้อผ้าเด็ก 4 ตัว ราคาเพียง 1 ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น (ประมาณ 8 เหรียญปาตากาส์มาเก๊า) เปรียบเทียบกับค่าเงินมาเก๊าเงินยังซื้อชานมไข่มุกแก้วนึงไม่ได้เลย 

ซัลเวชั่น อาร์มี่ เมืองปงเซ่
                     ตุ๊กตาหมี หุ่นมือเอลโม่ หนังสือการ์ตูนผ้า กางเกง 4 ตัว เสื้อ 4 ตัว หมวก 1 ใบ และเสื้อผู้ใหญ่อีก 2 ตัว                                        ทั้งหมดราคา 7 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ  
มาเรีย ดีสวมเสื้อและหมวกที่ซื้อมาจากร้านซัลเวชั่น อาร์มี่ ทั้งหมดราคาไม่ถึง 1 เหรียญ  
จับตุ๊กตาหมีมาซักกันหน่อย
การตุนเสบียงอาหารที่เปอร์โตริโกนั้นมีตัวเลือกห้างร้านจำนวนมาก เนื่องจากที่นี่เป็นดินแดนของประเทศสหรัฐอเมริกา ห้างร้านต่างๆ จึงเป็นบริษัทของอเมริกันซะส่วนใหญ่ ถ้าคุณคุ้นเคยหรือเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาบ่อยๆ คงจะรู้จักห้างขนาดใหญ่อย่างแซมส์คลับ (Sam’s Club) หรือ วอลมาร์ต (Walmart) แต่สำหรับเราๆ เพิ่งเคยมาเยือนเป็นครั้งแรก ครอบครัวเรือ ฟาตา มอร์กานา (Fata Morgana) บอกว่าครอบครัวเราเป็นคนแรกที่พวกเขารู้จัก ที่ไม่รู้จักว่าแซมส์คลับ (Sam’s Club) หรือ วอลมาร์ต (Walmart) เป็นยังไง ทั้งสองห้างนี้ถ้าเปรียบแล้วก็คล้ายกับบิ๊กซีที่เมืองไทยเรา หรือห้างคอนติเน้นท์ (Continente) ในประเทศโปรตุเกส ที่แซมส์คลับ (Sam’s Club) เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขายของปริมาณมากหรือชิ้นใหญ่ คล้ายๆ กับขายส่ง และลูกค้าทุกคนจำเป็นต้องมีบัตรสมาชิกเพื่อที่จะสามารถจับจ่ายของในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ คล้ายกับแมคโครบ้านเรา เราได้ยินมาว่าที่อเมริกาทุกคนต้องแสดงบัตรสมาชิกที่มีรูปของตัวเองบนบัตรก่อนจะเข้าห้างไม่อย่างนั้นพนักงานจะไม่ยอมให้เข้าไปในบริเวณซูเปร์มาร์เก็ต ค่าสมัครบัตรสมาชิกต้องเสียค่าใช้จ่าย 40 เหรียญสหรัฐ ครอบครัวเราตัดสินใจทำบัตรสมาชิกเพราะเราต้องตุนเสบียงก่อนจะล่องเรือไปยังทิศใต้ของทะเลแคริบเบียน มีคนเคยบอกเราว่ายิ่งเราล่องเรือลงไปทางทิศใต้ของทะเลแคริบเบียนเท่าไร ข้าวของยิ่งแพงเท่านั้น สิ่งที่ฉันสังเกตได้ในซุเปอร์มาร์เก็ตที่นี่คือพวกผลิตภัณฑ์จากเอเชีย เช่น พวกเต้าหู้ จะจัดอยู่ในมุมหมวดหมู่สินค้าเพื่อสุขภาพ ไวน์ที่นี่มีราคาแแพง ขวดที่ราคาต่ำกว่า 10 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐหาซื้อไม่ค่อยได้ ซึ่งถ้าราคาประมาณนี้ที่มาเก๊าหรือโปรตุเกสที่เราสามารถจิบไวน์คุณภาพดีได้เลย ส่วนใหญ่ไวน์ที่มีขายที่นี่จะมาจากฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน และไวน์จากโลกใหม่ (New World) อย่างสหรัฐอเมริกา ชิลี และเปรู
โฉมหน้าร้านแซมส์คลับ (Sam's Club)
อีโว่และมิร่าหน้าหน้าห้างวอลมาร์ต (Walmart)
มาเรีย ดี ในร้านโฮมดีโป
เมื่อวันที่เราไปเยี่ยมชมเมืองหลวงของเปอร์โตริโกชื่อว่า ซาน ฮวน (San Juan) เป็นครั้งแรกที่เราได้ดื่มเบียร์ซิงเต่าหลังจากที่ครอบครัวเราย้ายมาจากมาเก๊าและอาศัยอยู่บนเรือใบ ที่เมืองหลวงมีร้านอาหารเอเชียหลายร้าน เราหยุดทานอาหารมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารจีน เจ้าของร้านเป็นชาวจีนมาจากเมืองเซินเจิ้น ฉันเพลิดเพลินหลังจากอาหารเที่ยงมื้อนั้น เพราะได้ตุนเสบียงครัวไทยและครัวเอเชียไว้เต็มครัวบนเรือใบดี
เมนูอาหารไทยบนเรือใบดี
ตุนเสบียง
ร้านขายยาที่นี่มีขนาดใหญ่มาก คล้ายกับวัตสันในประเทศไทยและมาเก๊าที่ขายทุกอย่างตั้งแต่ยา เครื่องสำอาง ขนม หรือแม้แต่ของที่ระลึก ฉันแค่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเรียกว่าร้านขายยา เพราะร้านขายยาที่นี่มีขนาดใหญ่กว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตในประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน! ถ้าใครเดินทางมาที่นี่และต้องการที่จะซื้อยาคุมกำเนิดที่ร้านขายยา จำเป็นต้องมีใบสั่งยา ไม่อย่างนั้นไม่ว่าร้านขายยาที่ใดในเปอร์โตริโกจะไม่จ่ายยาให้เป็นอันขาด
ร้านขายยาที่เมืองซาน ฮวน (San Juan) 
ส่วนถ้าใครมีเพื่อนสี่ขามาด้วย เปอร์โตริโกน่าจะเป็นที่ๆ ดีที่สุดในทะเลแคริบเบียน ที่จะหายาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับสุนัขเพราะมีให้เลือกจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศอเมริกา ตามท้องถนนที่ฉันผ่านไปยังที่ต่างๆ มีร้านค้าและโรงแรมสำหรับสุนัขจำนวนมาก แต่ฉันไม่เคยเห็นผู้คนที่นี่พาสุนัขไปเดินเลย การที่จะนำสุนัขมาที่นี่ก็ไม่ยาก เพียงแค่มีเอกสารการฉีดวัคซีนครบก็สามารถเดินทางเข้ามายังเปอร์โตริโกได้ ไม่ยุ่งยากเหมือนประเทศอื่นๆ เช่น หมู่เกาะเวอร์จิ้นของอังกฤษ (British Virgin Islands) ฟิจิ ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ เป็นต้น
เครื่องสลักชื่อสำหรับสร้อยคอสุนัข 5 เหรียญ
สามารถจ่ายเป็นเงินสดหรือบัตรเครติต
ค่าครองชีพของคนที่มีลูกเล็กเด็กแดงที่นี่ก็ดูเหมือนว่าจะต่ำกว่าที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน เพราะไม่ว่าราคารถเข็นเด็ก เสื้อผ้า ผ้าอ้อม และอาหารสำเร็จรูปสำหรับทารกที่นี่มีราคาถูกกว่า เก้าอี้นั่งโต๊ะกินข้าวสำหรับเด็ก หรือไฮแชร์ร้านอาหารทั้งหมดที่เราไปมาในเปอร์โตริโกมักจะมีเก้าอี้สำหรับเด็กเสมอ คาดว่าอาจจะเป็นเพราะกฎระเบียบของประเทศสหรัฐอเมริกา! ส่วนเตียงสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กภายในห้องน้ำก็พบได้ในห้องน้ำสาธารณะเกือบทุกที่ทั้งห้องน้ำชายและหญิง

ขณะที่เราเดินทางล่องเรือมาถึงทีเปอร์โตริโกเรายังต้องซ่อมแซมเรือใบดีบางส่วน ซึ่งที่นี่สะดวกในการหาอะไหล่เพื่อการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาเรือใบดีกว่าที่สาธารณรัฐโดมินิกัน มีร้านค้าขนาดใหญ่ที่ขายอุปกรณ์ซ่อมแซมอย่างโฮมดีโป ฉันรู้สึกเศร้านิดหน่อยที่เรามาจากเมือง "Made in China" แต่ถ้าเราซื้อของที่นี่ เราเสียเงินมากกว่าที่เราเคยจ่าย อุปกรณ์และเครื่องไฟฟ้าต่างๆ เกือบทุกอย่างผลิตในประเทศจีน ตัวอย่างสินค้าที่ราคาแพงที่นี่แต่ราคาถูกกว่าที่ประเทศจีน เช่น หลอดไฟ LED แผงพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์พาแนล) และแบตเตอรี่ เป็นต้น ในทางตรงกันข้ามอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น เครื่องปั่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้าและทีวีที่เปอร์โตริโกราคาถูกกว่าที่มาเก๊ามาก 

ครอบครัวเรามาจากสถานที่ๆ ใช้เงินสกุลดอลล่าร์ฮ่องกงและเงินหยวนเป็นหลัก เรากลัวที่จะต้องจับจ่ายสิ่งของต่างๆ ด้วยเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เพราะอย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าเป็นสกุลเงินหลักที่หมุนเวียนในธุรกิจโลก แต่ถ้าให้เปรียบเทียบค่าครองชีพที่เปอร์โตริโก อาหาร การคมนาคมยังถือว่าต่ำกว่าค่าครองชีพที่มาเก๊าและฮ่องกงอยู่มาก 

ชีสเค้กทอด ที่เมืองเปอร์โตเรียล
หมูแดงจานแรกที่เราได้ทานในแคริบเบียน 
เครื่องดื่มจากเมืองเปอร์โตริโก น้ำมะพร้าวโซดา  
ขนมเค้กท้องถิ่น ในเมืองซาน ฮวน ชิ้นละ 1 เหรียญ

วันจันทร์, กันยายน 08, 2557

วิถีครอบครัวโกเมส

บทความนี้แปลมาจากบทความภาษาอังกฤษที่แหนเขียน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวที่ฮือฮามากที่สุดข่าวหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา คือข่าวเกี่ยวกับครอบครัวนักเดินเรือครอบครัวหนึ่งที่กำลังล่องเรือใบผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก พวกเขาได้ออกเดินเรือจากประเทศเม็กซิโกมาไกลกว่า 900 ไมล์ แล้วเพราะเหตุใดพวกเขาจึงได้เป็นที่ฮือฮาในอเมริกา การเดินทางดูเหมือนว่าจะราบรื่นไปตามคลื่นและลมโดยไร้อุปสรรค ถ้าหากไม่มีใครป่วยซะก่อน เด็กหญิงวัยขวบเศษ สมาชิกนักเดินเรือที่อายุน้อยที่สุดของครอบครัวเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากอาการอาหารเป็นพิษขั้นรุนแรงในช่วงก่อนการเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะเดียวกัน เครื่องยนต์ของเรือพาหนะทำงานผิดปกติรวมทั้งระบบไฟฟ้าทั้งหมดไม่ทำงาน จนท้ายที่สุด ครอบครัวนี้จึงได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเครื่องค้นหาสัญญาณฉุกเฉิน EPIRB (Emergency Position-Indicating Radio Beacon-EPIRB) ไปยังผู้ดูแลน่านน้ำของสหรัฐอเมริกา

ฉันไม่แน่ใจว่ามีการเสนอข่าวนี้ที่ประเทศไทย มาเก๊า หรือโปรตุเกสหรือไม่ เพราะเราไม่ได้ติดตามข่าวจากประเทศของเรามานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความปลอดภัยและภาวะฉุกเฉินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนี้คงจะเป็นสิ่งที่ครอบครัวและเพื่อนสนิทของเรากังวลมากที่สุดเช่นกัน ครอบครัวชาวอเมริกันตามข่าวนั้นมาจากเมืองซาน ดิเอโก้ หัวหน้าครอบครัวถือใบประกอบวิชาชีพกัปตันผู้ดูแลน่านน้ำของสหรัฐอเมริกา และภรรยาอดีตมีอาชีพเป็นครู คู่สามีภรรยาคู่นี้เดินทางล่องเรือกับลูกสาววัย 1 และ 3 ปี ที่ประเทศอเมริกาผู้คนถึงกับวิพากษ์วิจารณ์ว่าครอบครัวนี้เห็นแก่ตัวที่พาเด็กเล็กๆ เดินทางไปด้วย บางคนก็ว่าทั้งคู่ควรจะลงทุนซื้อโทรทัศน์จอยักษ์ให้เด็กๆ นั่งดูที่บ้าน การวิจารณ์บานปลายจนไปถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ตำรวจน้ำไปช่วยเหลือครอบครัวนี้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ เงินนั้นมาจากผู้ที่เสียภาษีให้แก่รัฐบาลอเมริกันหรือเปล่า  

สำหรับฉัน ที่มีลูกน้อยวัยใกล้เคียงกับลูกคนเล็กของครอบครัวชาวอเมริกันครอบครัวนี้ ฉันดีใจที่หนูน้อยปลอดภัยและมีอาการดีขึ้น ซึ่งผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญประเด็นนี้เท่าไหร่นัก ฉันหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดกับครอบครัวเรา คนส่วนใหญ่กล่าวหานักเดินเรือที่มีเด็กเล็กร่วมเดินทางด้วยทั้งที่ไม่รู้ว่าเราเป็นอย่างไร ไม่รู้จักเรา หรือไม่รู้ว่ากิจกรรมหรือวิถีชีวิตแบบนี้ที่เรามีเป็นอย่างไร โครงการเดินทางล่องเรือรอบโลกของเราที่ไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนนั้นเปรียบเทียบไม่ได้เลยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวคอฟแมนส์ (Kaufmans) แต่เหตุผลหลักๆ น่าจะมาจากประเด็นคล้ายคลึงกัน ก่อนที่เราจะเดินทางออกจากมาเก๊าเราได้ยินข่าวลือว่า รัฐบาลมาเก๊าไม่สนับสนุนการเดินทางล่องเรือรอบโลกของครอบครัวเรา ทั้งที่เราตั้งใจจะโปรโมทความสำคัญของประวัติศาสตร์การเดินทางๆ ทะเลระหว่างตะวันตกและตะวันออก (ระหว่างโปรตุเกส-จีน) รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวมาเก๊า เนื่องจากเราพามาเรีย ดีเดินทางไปกับเราด้วย เราไม่รู้ว่าข่าวลือนั้นเป็นความจริงหรือไม่ แต่หากเป็นความจริงอย่างน้อยรัฐบาลมาเก๊าควรจะเปิดโอกาสให้เราได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางบ้าง จะให้เราทิ้งลูกของเราไว้ลำพังหรืออย่างไร บริษัทเอกชนของมาเก๊าแห่งหนึ่งเคยถามเราว่าแล้วถ้าเราเปลี่ยนใจไม่ยกเลิกการเดินทางล่ะ และยื่นข้อเสนอให้เงินสนับสนุนเพียงพอกับราคาของไวน์ขวดนึงเท่านั้น น่าเสียดายที่เราไม่ได้เป็นเพื่อนของคนใหญ่คนโตหรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ เพราะถ้าหากเราเป็น รัฐบาลคงเห็นความสำคัญของโครงการการเดินทางล่องเรือรอบโลก

ในบรรดาคนที่ฉันรู้จักทั้งหมดมีเพียงแค่เพื่อนร่วมงานคนเดียวเท่านั้นที่บอกกับฉันว่า การเดินทางของเราจะเปิดโอกาสให้ลูกน้อยของเราได้มีประสบการณ์ในโลกกว้าง และถ้าเขามีลูกเขาก็อยากจะทำสิ่งที่ใกล้เคียงเช่นนี้เหมือนกัน ปัญหาอยู่ที่ว่าเราเป็นเพียงแค่คนกลุ่มน้อยและเราไม่ได้ทำสิ่งที่คนในสังคมว่าเป็น “สิ่งปกติ” อะไรคือสิ่งที่สังคมเห็นว่าเป็น “สิ่งปกติ” ทำงานทั้งวันทั้งคืนหรือเปล่า บางคนบอกว่าพวกเขาต้องการความมั่นคงในชีวิต งานที่มั่นคง เงินจำนวนมากในบัญชีธนาคาร รถยนต์ราคาแพง หรือบ้านหลังใหญ่ แต่ฉันเชื่อว่าลึกๆ แล้ว คนส่วนใหญ่มักไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมี และเราต้องยอมรับว่าเราทุกคนกลัวความเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เราอยู่แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงไปเพื่ออะไรถึงแม้ว่าเราจะไม่มีความสุขก็ตาม

เมื่อเราพูดในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงหลายๆ ครั้ง ในที่สุดสิ่งนั้นก็อาจจะกลายเป็นจริง เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าสิ่งนั้นเป็นจริงหรือไม่ การเดินเรือเป็นวิถีชิวิตอย่างหนึ่งและไม่ได้มีความอันตรายอย่างที่หลายๆ คนคิด มันเหมือนกับการขับรถที่อุบัติเหตุสามารถเกิดบนท้องถนนได้ทุกขณะ น้ำมันหมดกลางคัน อาจจะต้องเปลี่ยนยาง หรือเครื่องยนต์ร้อน แต่ถ้าคุณคิดว่าการใช้ชีวิตในสังคมเมืองปลอดภัยมากกว่า ลองเปรียบเทียบดูกับเหตุการณ์การลักพาตัวเด็ก หรือเด็กหายบ่อยๆ ในประเทศไทย ประเทศอเมริกาที่เด็กนักเรียนพกปืนไปยิงเพื่อนที่โรงเรียน ในมาเก๊าที่เด็กวัยรุ่นไม่เคารพผู้สูงวัยเพราะเห็นความสำคัญแต่ตัวเองเพียงอย่างเดียว หรือแม้กระทั่งในประเทศโปรตุเกสหรืออีกหลายๆ ประเทศที่เด็กวัยรุ่นกลายเป็นมนุษย์ในสังคมวัตถุกันไปหมด การเดินเรือยังถือว่าปลอดภัยกว่ามากเมื่อชั่งน้ำหนักกันแล้ว

การเลี้ยงดูเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย การเดินทางและเลี้ยงลูกไปด้วยยิ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก อย่างแรกเราจะเดินทางพร้อมสัมภาระรุงรัง สำหรับนักเดินเรือเป็นเรื่องแน่นอนที่ลูกของเราเป็นสิ่งเราคำนึงและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ครอบครัวเราไม่ได้ตัดสินใจเดินทางภายในเวลาข้ามคืน ทุกอย่างเราวางแผนตั้งแต่วันที่เรารู้ว่าเราต้องเริ่มเก็บเงินเพื่อซื้อเรือใบ เราเข้าใจว่าเพื่อนและครอบครัวของเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับการเดินทางล่องเรือรอบโลก เรารู้ดีว่าลูกน้อยของเราอาจจะยังเล็กเกินไปที่จะสามารถจดจำประสบการณ์ต่างๆ แต่อย่างน้อยครอบครัวเราถือว่าเราได้ตัดสินใจที่จะเลี้ยงดูลูกน้อยของเราตั้งแต่ยังเล็ก ในวัยที่สำคัญที่สุดเพื่อจะเป็นรากฐานที่เราบ่มสอนเอง ไม่ใช่ฝากให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง พี่เลี้ยง หรือส่งไปโรงเรียนเนอสเซอรี่ที่เราไม่รู้ว่าครูหนุ่มสาวที่มาดูแลลูกของเรานั้นมีวัยวุฒิและคุณวุฒิมากแค่ไหน เราตัดสินใจที่จะดูแลลูกน้อยของเราในปฐมวัยเพื่อเป็นรากฐานให้เขาได้พัฒนาบุคลิกภาพและโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า และเราก็เชื่อว่าจะเป็นช่วงเวลาของครอบครัวที่ดีที่สุด

ฉันไม่เสียดายที่ตัดสินใจลาออกจากงานและใช้เวลาตลอด 24 ชั่วโมงกับครอบครัวของฉัน ฉันเคยทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ กลับมาถึงบ้านทำได้เพียงแค่ให้นมลูกน้อยทารกแรกเกิดช่วงเที่ยงคืน ฉันไม่ได้เห็นฟันซี่แรกของลูกที่เพิ่งงอกเพราะแม่บ้านเป็นคนบอกกับฉัน แต่ตอนนี้ฉันเป็นส่วนหนึ่งในก้าวแรกของมาเรีย ดี คำพูดคำแรก ป้อนอาหารแบบผู้ใหญ่คำแรก ว่ายน้ำทะเลครั้งแรก ทำท่าทางชี้นกชี้ไม้ครั้งแรก ฟันซี่ที่ 12 และอีก 2 ซี่ที่กำลังจะขึ้น ยังไม่รวมที่มาเรีย ดีอาละวาดครั้งแรก แย่งของเล่นกับเด็กคนอื่นครั้งแรก และกิจกรรมครั้งแรกอื่นๆ อีกหลายครั้งที่ฉันอยู่ร่วมในเหตุการณ์กับมาเรีย ดี

ถ้าถามเราว่าเรามีแผนการอะไรต่อไป เรายังไม่รู้ แต่หลังจากที่เราจบการเดินทางล่องเรือรอบโลกเพื่อเฉลิมฉลองการเดินทางๆ ทะเลจากตะวันตกสู่เอเชียแล้ว เราอาจจะกลับไปใช้ชีวิตที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเรียกว่า “ปกติ” ที่มาเก๊า ล่องเรือต่อไปเรื่อยๆ หรือตั้งรกรากที่ใดที่หนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เรายังไม่ได้วางแผนอะไร แต่เหมือนกับที่ครอบครัวคอฟแมนส์ (Kaufmans) ได้กล่าวไว้ตอนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ได้โปรดเข้าใจด้วยว่า นี่เป็นวิถีชีวิตของครอบครัวเรา (…)”
เรียนรู้ด้วยตัวเอง
อ่านหนังสือนิทานเสียงร้องของสัตว์ มู บา ลา ลา ลา
ใช้เวลากับพ่อบริเวณริมชายหาด
มาเรีย ดี กับโนแอล

เรียนรู้วิธีทำเส้นสปาเก็ตตี้
อาบน้ำกลางแจ้งบนเรือ
ประสบการณ์ครั้งแรกบนเรือยาง
นั่งอ่านหนังสือกับแม่
หัดขึ้นบันได
มาเรีย ดี เล่นกับโนแอล
ล่องเรือกับพ่อ
ช่วยแม่จัดระเบียบตู้รองเท้า

เหตุผล 10 ข้อ ทำไมเราถึงควรท่องเที่ยว

บทความนี้แปลมาจากต้นฉบับบทความภาษาอังกฤษที่แหนเขียน

เมื่อเราพูดถึงการท่องเที่ยว ฉันเชื่อว่ากว่า 99 % ทุกคนล้วนมีสถานที่ในฝันที่ตนเองอยากจะเดินทางไปครั้งหนึ่งในชีวิต ฉันเองก็มีเหมือนกัน ความฝันของฉันๆ อยากจะเดินทางไปยังประเทศออสเตรียและเยอรมันเพื่อจะไปร่วมชมคอนเสิร์ตการแสดงสดดนตรีคลาสสิค ฉันหลงใหลดนตรีคลาสสิคทั้งที่ฉันอ่านเนื้อทำนองดนตรีไม่ออก แต่ฉันมีความรู้สึกว่าดนตรีคลาสสิคมีพลังและมีเสน่ห์ สถานที่ในฝันและกิจกรรมที่ฉันอยากทำช่างแตกต่างกับโครงการล่องเรือรอบโลกของครอบครัวเราอย่างสิ้นเชิง แต่ฉันมั่นใจว่าการเดินทางล่องเรือรอบโลกจะให้ประสบการณ์ที่มีค่าที่ฉันจะหาที่ไหนไม่ได้อีก และฉันก็เชื่อว่าจุดหมายที่เราจะล่องเรือไปบางแห่งนั้นก็คงจะเป็นสถานที่ในฝันของใครบางคนด้วยเช่นกัน

เราทุกคนชอบการเดินทาง การเดินทางเป็นเหมือนกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่ทำกัน ไม่ว่าจุดประสงค์ของการเดินทางจะเพื่อการผ่อนคลาย ทำงาน เรียน ช้อปปิ้ง ศาสนา หรือเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ ก็แล้วแต่ สำหรับผู้ที่ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำและมีเงินเป็นผลตอบแทนเพื่อนำมาจับจ่ายของที่เราอยากได้ เพื่อความสะดวกสบาย เพื่อให้มีเหมือนคนอื่นๆ ในสังคมมี วันหยุดพักผ่อนถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าอย่างนั้นแล้วลองนึกดูว่าเมื่อไหร่เป็นการพักผ่อนครั้งสุดท้ายที่ปราศจากนาฬิกาปลุก คอมพิวเตอร์ ไม่เช็คอีเมล์ ไม่ใส่นาฬิกา สำหรับฉันแล้วนึกไม่ออกสักครั้งนึง ในชีวิตของเรามีสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญมากกว่าการทำงาน หรือเพื่อเงินทอง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ความสัมพันธ์ และประสบการณ์ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งสิ้น

เหตุผล 10 ข้อ ทำไมเราถึงควรท่องเที่ยว อาจจะมีผู้ที่เห็นด้วยทั้งหมดหรือเห็นแย้ง แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของฉัน

1. เพื่อเปิดโลกทัศน์
2. เพื่อรู้จักและพบปะผู้คนใหม่ๆ
3. เพื่อให้เราได้รู้ว่าโลกของเรามีความน่ามหัศจรรย์แค่ไหน
4. เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศจากชีวิตประจำวัน
5. เพื่อใช้เวลาที่มีค่ากับครอบครัวหรือคนที่เรารัก
6. เพื่อประสบการณ์ใหม่ๆ
7. เพื่อเรียนรู้และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
8. เพื่อข้ามผ่านอุปสรรคและสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในชีวิตคู่
9. เพื่อให้โอกาศแก่ตัวเอง
10. เพื่อโอกาสให้เราได้ใช้เงินที่หามาจากหยาดเหงื่อในขณะที่เรายังมีสุขภาพที่ดี

ตอนนี้ถึงคราวที่ทุกคนจะหาเวลาและสถานที่ปลายทางในวันหยุดพักร้อนครั้งต่อไปให้แก่ตัวคุณเอง


น้ำตกที่เมืองซิกิฮอร์ (Siquijor) ประเทศฟิลิปปินส์
โรงแรมที่พักบนเกาะโบราคาย (Boracay) ประเทศฟิลิปปินส์
ลิ้มลองอาหารท้องถิ่น
ถนนริมชายหาดมาเบลล่า (Marbella) ประเทศสเปน 
เรียนรู้ประวัติการเดินเรือในเมืองมะละกา (Malacca) ประเทศมาเลเซีย 
"ไหว้" วัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยเรา
วิวด้านบนของเมืองซินทรา (Sintra) ในประเทศโปรตุเกส 
สถานที่นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองมรดกโลกจากยูเนสโก้ 
อร่อยกับขนมท้องถิ่นที่เราโปรดปราน ทาร์ตไข่แห่งเมืองเบอแลง (Belém) ประเทศโปรตุเกส 
มารีน่าในเมืองอัลเมอเรีย (Almeria) ประเทศสเปน
สะพาน 25 เมษายน ในกรุงลิสบอน (Lisbon) ประเทศโปรตุเกส 
เล่นสกี กิจกรรมคู่รัก ที่ประเทศเกาหลี 
ใช้เวลาที่มีค่ากับเพื่อนๆ 
ใช้เวลากับคนที่เรารัก, สถานที่ในกรุงเทพฯ
โลกแห่งจินตนาการ ฮ่องกงดิสนีย์แลนด์ 
จังหวัดอยุธยา ประเทศไทย ที่ๆ ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างไทย-โปรตุเกสเริ่มต้น
ดื่มด่ำกับธรรมชาติ เกาะมันนอก จังหวัดระยอง

วันศุกร์, มีนาคม 28, 2557

ฝันถึงฝั่งที่ ลา ฮิสปันโยลา

                                               บทความนี้แปลมาจากต้นฉบับบทความภาษาอังกฤษที่แหนเขียน

ลา ฮิสปันโยลา (La Hispaniola) หรือมีความหมายแปลตรงตัวว่าเกาะของชาวสเปน ดินแดนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1492 เป็นการค้นพบโลกใหม่ (New World) ครั้งแรกในทวีปอเมริกา ปัจจุบัน ลา ฮิสปันโยลา ประกอบไปด้วยประเทศเฮติซึ่งมีชายแดนทางตะวันออกของประเทศติดกับประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน

แผนการเดินทางล่องเรือรอบโลกของเรามีจุดเริ่มต้นที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน เพราะเป็นที่ๆ มีการทำสัญญาซื้อเรือใบ “ดี” เกิดขึ้น ในระหว่างที่ครอบครัว “โกเมส” กำลังเตรียมความพร้อมของเรือใบ ทั้งเครื่องยนต์ ระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้า การกรองน้ำ เสบียงอาหารและการปรับตัวขนของย้ายขึ้นบ้านใหม่อยู่นั้น เราได้ใช้เวลาที่ผ่านมากว่าสามเดือนอาศัยอยู่ที่เมืองลูเปรอน (Luperon) ในจังหวัดเปอร์โต พลาต้า (Puerto Plata) ชายฝั่งทางทิศเหนือของสาธารณรัฐโดมินิกัน เมืองลูเปรอน แห่งนี้ถือเป็นสวรรค์ของบรรดานักเดินเรือ เนื่องจากมีความปลอดภัยทางด้านภูมิศาสตร์ เป็นกำแพงหลบพายุเฮอริเคนตามธรรมชาติที่ปลอดภัยที่สุดในบรรดาหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลแคริบเบียน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 สถานที่แห่งนี้ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังเช่นประเทศเพื่อนบ้านเลย

หากเราถามเด็กรุ่นใหม่ว่ารู้จักประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันหรือไม่ หลายคนหรืออาจจะทั้งหมดคงจะทำหน้างงและถามว่าคือที่ใด บางคนอาจจะสับสนกับประเทศโดมินิกา แต่สำหรับผู้ที่สนใจหรือศึกษาด้านประวัติศาสตร์คงจะรู้จักกันดี  ทุกสิ่งเริ่มต้นขึ้นที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นดินแดนแห่งแรกในโลกใหม่ที่เมืองลา อิซาเบล่า (La Isabela) เมืองถัดจากลูเปรอน สถานที่ตั้งรกรากของชาวยุโรปแห่งแรกในทวีปอเมริกา พิธีสวดมนต์ทางคาทอลิคครั้งแรกในทวีปอเมริกา การสร้างโบสถ์แห่งแรกในดินแดนโลกใหม่ เมืองหลวงแห่งแรกในทวีปอเมริกาซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นเมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และยังเป็นเมืองหลวงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแคริบเบียน นั่นคือ ซานโต โดมิงโก (Santo Domingo)

ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันมีความน่าสนใจทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม วัฒนธรรมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ประวัติศาสตร์ การผสมผสานของชาวยุโรปและชาวท้องถิ่นในทวีปอเมริกาเดิม ส่งผลให้ชาวท้องถิ่นของสาธารณรัฐโดมินิกันจึงมีหน้าตาคล้ายลูกผสมและมีผิวสีต่างจากเพื่อนบ้านผิวเข้มอย่างประเทศเฮติ ปัจจุบันสาธารณรัฐโดมินิกันมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ อุตสาหกรรมหลักของประเทศคือ การท่องเที่ยว เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าทะเลแคริบเบียนเป็นสถานที่ในฝันของผู้ที่รักทะเล มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ และมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่และน่าสนใจ การส่งออกหลัก คือ ข้าวสาร กล้วย ไก่ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีดินแดนแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ นอกจากนั้นยังส่งออกให้แก่ประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา และเวเนซูเอลา เป็นต้น ฉันสังเกตเห็นทิวทัศน์ของประเทศเขียวขจีที่เต็มไปด้วยไร่กล้วย อาหารหลักของชาวโดมินิกันแทนที่จะเป็นมันฝรั่งเหมือนชาวยุโรปแต่กลับเป็นกล้วยที่เป็นเกษตกรรมหลักของประเทศ อาหารประจำชาติและอาหารท้องถิ่นที่เสิร์ฟตามร้านอาหารหรือภัตตาคารต่างๆ ต้องมีกล้วยเป็นองค์ประกอบหลัก รวมถึงถั่วแดงที่มักจะขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหาร

สิ่งที่ฉันประทับใจมากที่สุดเกี่ยวกับสาธารณรัฐโดมินิกันเห็นจะเป็นประชาชนของประเทศนี้ ทุกคนมีมิตรไมตรี มีน้ำใจคอยช่วยเหลือเสมอ ตอนที่เราเดินทางมาถึงวันแรกๆ ฉันถามฌูเอาว่า เขาช่วยเหลือเราด้วยความเต็มใจหรือหวังผลตอบแทนจากนักท่องเที่ยวอย่างเรา คำตอบที่ได้จากชาวท้องถิ่นสร้างความประทับใจให้แก่เราทั้งคู่เป็นอย่างมาก และหวังว่าทุกคนคงรู้สึกเช่นเดียวกันกับเรา “ประเทศของเราเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยว เราไม่จำเป็นต้องถามว่าคุณมาจากประเทศไหน มาท่องเที่ยวนานเท่าไร ตราบเท่าที่คุณเป็นนักท่องเที่ยวเรายินดีต้อนรับสู่ประเทศของเรา ทุกเพศ วัย และเชื้อชาติ ประเทศเราเป็นประเทศที่ประชากรมีน้ำใจมากที่สุดแห่งหนึ่ง อาจจะเป็นประเทศเดียวในโลกก็ว่าได้ที่คุณเพิ่งได้รู้จักกับคนแปลกหน้าชาวท้องถิ่นครั้งแรก วันรุ่งขึ้นคุณอาจจะเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดเลยก็ได้”

รัฐบาลของสาธารณรัฐโดมินิกันสนับสนุนและเน้นการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยที่พยายามจะรักษาความเป็นธรรมชาติของประเทศไว้ให้ได้มากที่สุด ป่าชายเลนทุกแห่งถือเป็นสถานที่อนุรักษณ์ ประชาชนไม่สามารถระบายน้ำเสียโดยตรงสู่แม่น้ำและทะเลที่บริเวณป่าชายเลนหรือใกล้เคียง เพื่อให้ระบบนิเวศน์มีความบริสุทธิ์ สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำได้ตามธรรมชาติ หากใครทำลายหรือกระทำการใดที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ถือว่าการกระทำนั้นขัดต่อกฎหมายของประเทศ การอนุรักษ์ดังกล่าวยังเป็นนโยบายการบริหารหลักของประเทศที่มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานมาแล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามรักษาความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศให้ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวด้วย

ถึงแม้ว่าสาธารณรัฐโดมินิกันจะสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหารและทรัพยากรธรรมชาติ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ น้ำ เนื่องจากระบบการผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประเทศยังไม่ได้มาตราฐานเท่าไหร่นัก มีสารปนเปื้อนจำนวนมาก ประชากรของประเทศส่วนใหญ่จำเป็นต้องบริโภคน้ำดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการการฆ่าเชื้อจากโรงงานผู้ผลิตน้ำดื่มต่างๆ รัฐบาลของประเทศถึงกับกล่าวเตือนประชากรรวมถึงนักท่องเที่ยวว่าควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา ส่งผลให้มีบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มจำนวนมากให้เลือกในสาธารณรัฐโดมินิกันด้วยโฆษณาและราคาที่แตกต่างกัน

ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันเป็นเกาะที่ทางทิศเหนือหันหน้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนทางตอนใต้หันหน้าสู่ทะเลแคริบเบียนทำให้มีท่าเรือทางการค้าและการประมงขนาดใหญ่กว่า 10 แห่ง เมืองลูเปรอนที่เราได้ใช้เวลาอยู่แม้ว่าจะเป็นเมืองชายฝั่งทางตอนเหนือของประเทศแต่มีประชากรในหมู่บ้านไม่มากนัก อีกทั้งราคาน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์เรือมีราคาสูง การประมงของเมืองลูเปรอนจึงเป็นเพียงแค่การออกเรือหาปลาจำนวนเพียงพอให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน และจำเป็นต้องพึ่งพาท่าเรือที่มีขนาดใหญ่กว่าในตัวจังหวัดเปอร์โต พลาต้า ที่เมืองลูเปรอนมีเรือประมงออกหาปลาอาทิตย์ละ 6 ลำ และมีเพียงแค่ 2 ลำ ที่ออกเรืออยู่นอกชายฝั่งเป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วจึงกลับเข้าฝั่ง ตั้งแต่ที่เราเดินทางมาถึงยังไม่มีโอกาสได้ทานปลาในเมืองนี้เลย!

ปัจจุบัน เรือใบ “ดี” ยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมออกสู่ท้องทะเลกว้างที่อ่าวเมืองลูเปรอน ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางและเป็นไปตามแผนมากขึ้น ตอนนี้เรารอเวลาที่มีอากาศเหมาะสมเพื่อออกเดินทางลงทางตอนใต้ของลา ฮิสปันโยลา โดยมีจุดหมายไปที่มลรัฐเปอร์โต ริโก ของประเทศสหรัฐอเมริกา
วิวทะเลที่เมืองเปอร์โต พลาต้า
วิวทะเลที่ลา อิซาเบล่า
โบสถ์ในเมืองเปอร์โต พลาต้า
วิวเมืองเปอร์โต พลาต้า
วิวอ่าวลูเปรอน
โบสถ์แห่งแรกในทวีปอเมริกา
ร้านขายผลไม้ริมทาง
กิจกรรมทุกเช้าวันอาทิตย์ สอนเด็กล่องเรือใบ ที่อ่าวลูเปรอน
โนแอลยืนชมพระอาทิตย์ตกดินในเรือ ที่อ่าวลูเปรอน
พ่อ-ลูกล่องเรือ ที่อ่าวลูเปรอน
สเต็กปลา กับกล้วยทอดสไตล์ท้องถิ่น
ถนนภายในหมู่บ้าน ที่เมืองลูเปรอน
ร้านขายผักผลไม้เจ้าประจำในเมืองลูเปรอน
วิวอ่าวลูเปรอน