บทความนี้แปลมาจากบทความภาษาอังกฤษที่แหนเขียน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวที่ฮือฮามากที่สุดข่าวหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา คือข่าวเกี่ยวกับครอบครัวนักเดินเรือครอบครัวหนึ่งที่กำลังล่องเรือใบผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก พวกเขาได้ออกเดินเรือจากประเทศเม็กซิโกมาไกลกว่า 900 ไมล์ แล้วเพราะเหตุใดพวกเขาจึงได้เป็นที่ฮือฮาในอเมริกา การเดินทางดูเหมือนว่าจะราบรื่นไปตามคลื่นและลมโดยไร้อุปสรรค ถ้าหากไม่มีใครป่วยซะก่อน เด็กหญิงวัยขวบเศษ สมาชิกนักเดินเรือที่อายุน้อยที่สุดของครอบครัวเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากอาการอาหารเป็นพิษขั้นรุนแรงในช่วงก่อนการเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะเดียวกัน เครื่องยนต์ของเรือพาหนะทำงานผิดปกติรวมทั้งระบบไฟฟ้าทั้งหมดไม่ทำงาน จนท้ายที่สุด ครอบครัวนี้จึงได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเครื่องค้นหาสัญญาณฉุกเฉิน EPIRB (Emergency Position-Indicating Radio Beacon-EPIRB) ไปยังผู้ดูแลน่านน้ำของสหรัฐอเมริกา
ฉันไม่แน่ใจว่ามีการเสนอข่าวนี้ที่ประเทศไทย มาเก๊า หรือโปรตุเกสหรือไม่ เพราะเราไม่ได้ติดตามข่าวจากประเทศของเรามานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความปลอดภัยและภาวะฉุกเฉินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนี้คงจะเป็นสิ่งที่ครอบครัวและเพื่อนสนิทของเรากังวลมากที่สุดเช่นกัน ครอบครัวชาวอเมริกันตามข่าวนั้นมาจากเมืองซาน ดิเอโก้ หัวหน้าครอบครัวถือใบประกอบวิชาชีพกัปตันผู้ดูแลน่านน้ำของสหรัฐอเมริกา และภรรยาอดีตมีอาชีพเป็นครู คู่สามีภรรยาคู่นี้เดินทางล่องเรือกับลูกสาววัย 1 และ 3 ปี ที่ประเทศอเมริกาผู้คนถึงกับวิพากษ์วิจารณ์ว่าครอบครัวนี้เห็นแก่ตัวที่พาเด็กเล็กๆ เดินทางไปด้วย บางคนก็ว่าทั้งคู่ควรจะลงทุนซื้อโทรทัศน์จอยักษ์ให้เด็กๆ นั่งดูที่บ้าน การวิจารณ์บานปลายจนไปถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ตำรวจน้ำไปช่วยเหลือครอบครัวนี้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ เงินนั้นมาจากผู้ที่เสียภาษีให้แก่รัฐบาลอเมริกันหรือเปล่า
สำหรับฉัน ที่มีลูกน้อยวัยใกล้เคียงกับลูกคนเล็กของครอบครัวชาวอเมริกันครอบครัวนี้ ฉันดีใจที่หนูน้อยปลอดภัยและมีอาการดีขึ้น ซึ่งผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญประเด็นนี้เท่าไหร่นัก ฉันหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดกับครอบครัวเรา คนส่วนใหญ่กล่าวหานักเดินเรือที่มีเด็กเล็กร่วมเดินทางด้วยทั้งที่ไม่รู้ว่าเราเป็นอย่างไร ไม่รู้จักเรา หรือไม่รู้ว่ากิจกรรมหรือวิถีชีวิตแบบนี้ที่เรามีเป็นอย่างไร โครงการเดินทางล่องเรือรอบโลกของเราที่ไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนนั้นเปรียบเทียบไม่ได้เลยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวคอฟแมนส์ (Kaufmans) แต่เหตุผลหลักๆ น่าจะมาจากประเด็นคล้ายคลึงกัน ก่อนที่เราจะเดินทางออกจากมาเก๊าเราได้ยินข่าวลือว่า รัฐบาลมาเก๊าไม่สนับสนุนการเดินทางล่องเรือรอบโลกของครอบครัวเรา ทั้งที่เราตั้งใจจะโปรโมทความสำคัญของประวัติศาสตร์การเดินทางๆ ทะเลระหว่างตะวันตกและตะวันออก (ระหว่างโปรตุเกส-จีน) รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวมาเก๊า เนื่องจากเราพามาเรีย ดีเดินทางไปกับเราด้วย เราไม่รู้ว่าข่าวลือนั้นเป็นความจริงหรือไม่ แต่หากเป็นความจริงอย่างน้อยรัฐบาลมาเก๊าควรจะเปิดโอกาสให้เราได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางบ้าง จะให้เราทิ้งลูกของเราไว้ลำพังหรืออย่างไร บริษัทเอกชนของมาเก๊าแห่งหนึ่งเคยถามเราว่าแล้วถ้าเราเปลี่ยนใจไม่ยกเลิกการเดินทางล่ะ และยื่นข้อเสนอให้เงินสนับสนุนเพียงพอกับราคาของไวน์ขวดนึงเท่านั้น น่าเสียดายที่เราไม่ได้เป็นเพื่อนของคนใหญ่คนโตหรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ เพราะถ้าหากเราเป็น รัฐบาลคงเห็นความสำคัญของโครงการการเดินทางล่องเรือรอบโลก
ในบรรดาคนที่ฉันรู้จักทั้งหมดมีเพียงแค่เพื่อนร่วมงานคนเดียวเท่านั้นที่บอกกับฉันว่า การเดินทางของเราจะเปิดโอกาสให้ลูกน้อยของเราได้มีประสบการณ์ในโลกกว้าง และถ้าเขามีลูกเขาก็อยากจะทำสิ่งที่ใกล้เคียงเช่นนี้เหมือนกัน ปัญหาอยู่ที่ว่าเราเป็นเพียงแค่คนกลุ่มน้อยและเราไม่ได้ทำสิ่งที่คนในสังคมว่าเป็น “สิ่งปกติ” อะไรคือสิ่งที่สังคมเห็นว่าเป็น “สิ่งปกติ” ทำงานทั้งวันทั้งคืนหรือเปล่า บางคนบอกว่าพวกเขาต้องการความมั่นคงในชีวิต งานที่มั่นคง เงินจำนวนมากในบัญชีธนาคาร รถยนต์ราคาแพง หรือบ้านหลังใหญ่ แต่ฉันเชื่อว่าลึกๆ แล้ว คนส่วนใหญ่มักไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมี และเราต้องยอมรับว่าเราทุกคนกลัวความเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เราอยู่แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงไปเพื่ออะไรถึงแม้ว่าเราจะไม่มีความสุขก็ตาม
เมื่อเราพูดในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงหลายๆ ครั้ง ในที่สุดสิ่งนั้นก็อาจจะกลายเป็นจริง เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าสิ่งนั้นเป็นจริงหรือไม่ การเดินเรือเป็นวิถีชิวิตอย่างหนึ่งและไม่ได้มีความอันตรายอย่างที่หลายๆ คนคิด มันเหมือนกับการขับรถที่อุบัติเหตุสามารถเกิดบนท้องถนนได้ทุกขณะ น้ำมันหมดกลางคัน อาจจะต้องเปลี่ยนยาง หรือเครื่องยนต์ร้อน แต่ถ้าคุณคิดว่าการใช้ชีวิตในสังคมเมืองปลอดภัยมากกว่า ลองเปรียบเทียบดูกับเหตุการณ์การลักพาตัวเด็ก หรือเด็กหายบ่อยๆ ในประเทศไทย ประเทศอเมริกาที่เด็กนักเรียนพกปืนไปยิงเพื่อนที่โรงเรียน ในมาเก๊าที่เด็กวัยรุ่นไม่เคารพผู้สูงวัยเพราะเห็นความสำคัญแต่ตัวเองเพียงอย่างเดียว หรือแม้กระทั่งในประเทศโปรตุเกสหรืออีกหลายๆ ประเทศที่เด็กวัยรุ่นกลายเป็นมนุษย์ในสังคมวัตถุกันไปหมด การเดินเรือยังถือว่าปลอดภัยกว่ามากเมื่อชั่งน้ำหนักกันแล้ว
การเลี้ยงดูเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย การเดินทางและเลี้ยงลูกไปด้วยยิ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก อย่างแรกเราจะเดินทางพร้อมสัมภาระรุงรัง สำหรับนักเดินเรือเป็นเรื่องแน่นอนที่ลูกของเราเป็นสิ่งเราคำนึงและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ครอบครัวเราไม่ได้ตัดสินใจเดินทางภายในเวลาข้ามคืน ทุกอย่างเราวางแผนตั้งแต่วันที่เรารู้ว่าเราต้องเริ่มเก็บเงินเพื่อซื้อเรือใบ เราเข้าใจว่าเพื่อนและครอบครัวของเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับการเดินทางล่องเรือรอบโลก เรารู้ดีว่าลูกน้อยของเราอาจจะยังเล็กเกินไปที่จะสามารถจดจำประสบการณ์ต่างๆ แต่อย่างน้อยครอบครัวเราถือว่าเราได้ตัดสินใจที่จะเลี้ยงดูลูกน้อยของเราตั้งแต่ยังเล็ก ในวัยที่สำคัญที่สุดเพื่อจะเป็นรากฐานที่เราบ่มสอนเอง ไม่ใช่ฝากให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง พี่เลี้ยง หรือส่งไปโรงเรียนเนอสเซอรี่ที่เราไม่รู้ว่าครูหนุ่มสาวที่มาดูแลลูกของเรานั้นมีวัยวุฒิและคุณวุฒิมากแค่ไหน เราตัดสินใจที่จะดูแลลูกน้อยของเราในปฐมวัยเพื่อเป็นรากฐานให้เขาได้พัฒนาบุคลิกภาพและโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า และเราก็เชื่อว่าจะเป็นช่วงเวลาของครอบครัวที่ดีที่สุด
ฉันไม่เสียดายที่ตัดสินใจลาออกจากงานและใช้เวลาตลอด 24 ชั่วโมงกับครอบครัวของฉัน ฉันเคยทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ กลับมาถึงบ้านทำได้เพียงแค่ให้นมลูกน้อยทารกแรกเกิดช่วงเที่ยงคืน ฉันไม่ได้เห็นฟันซี่แรกของลูกที่เพิ่งงอกเพราะแม่บ้านเป็นคนบอกกับฉัน แต่ตอนนี้ฉันเป็นส่วนหนึ่งในก้าวแรกของมาเรีย ดี คำพูดคำแรก ป้อนอาหารแบบผู้ใหญ่คำแรก ว่ายน้ำทะเลครั้งแรก ทำท่าทางชี้นกชี้ไม้ครั้งแรก ฟันซี่ที่ 12 และอีก 2 ซี่ที่กำลังจะขึ้น ยังไม่รวมที่มาเรีย ดีอาละวาดครั้งแรก แย่งของเล่นกับเด็กคนอื่นครั้งแรก และกิจกรรมครั้งแรกอื่นๆ อีกหลายครั้งที่ฉันอยู่ร่วมในเหตุการณ์กับมาเรีย ดี
ถ้าถามเราว่าเรามีแผนการอะไรต่อไป เรายังไม่รู้ แต่หลังจากที่เราจบการเดินทางล่องเรือรอบโลกเพื่อเฉลิมฉลองการเดินทางๆ ทะเลจากตะวันตกสู่เอเชียแล้ว เราอาจจะกลับไปใช้ชีวิตที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเรียกว่า “ปกติ” ที่มาเก๊า ล่องเรือต่อไปเรื่อยๆ หรือตั้งรกรากที่ใดที่หนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เรายังไม่ได้วางแผนอะไร แต่เหมือนกับที่ครอบครัวคอฟแมนส์ (Kaufmans) ได้กล่าวไว้ตอนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ได้โปรดเข้าใจด้วยว่า นี่เป็นวิถีชีวิตของครอบครัวเรา (…)”
เรียนรู้ด้วยตัวเอง |
อ่านหนังสือนิทานเสียงร้องของสัตว์ มู บา ลา ลา ลา |
ใช้เวลากับพ่อบริเวณริมชายหาด |
มาเรีย ดี กับโนแอล |
เรียนรู้วิธีทำเส้นสปาเก็ตตี้ |
อาบน้ำกลางแจ้งบนเรือ |
ประสบการณ์ครั้งแรกบนเรือยาง |
นั่งอ่านหนังสือกับแม่ |
1 comments:
ชอบมากค่ะ อ่านสนุกมาก เข้ามาเจอโดยบังเอืญ
แสดงความคิดเห็น