วันอังคาร, พฤศจิกายน 11, 2557

ประสบการณ์ช้อปปิ้งที่เปอร์โตริโก

                                            บทความนี้แปลมาจากต้นฉบับบทความภาษาอังกฤษที่แหนเขียน

การช้อปปิ้งถือป็นรายจ่ายที่เราต้องลดลงเป็นอันดับแรกตั้งแต่ที่เราเริ่มโครงการล่องเรือรอบโลก แต่สำหรับสาวนักช้อปอย่างฉันที่เคยซื้อรองเท้าแบบเดียวกันแต่คนละสีหลายๆ คู่ ฉันหาข้ออ้างในการช้อปปิ้งได้เสมอ ตั้งแต่ที่เราเริ่มอาศัยบนเรือใบฉันเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการช้อปปิ้งและซื้อเสื้อผ้า ตอนนี้ฉันซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น (เชื่อหรือไม่) เพราะยิ่งฉันมีเสื้อผ้ามากเท่าไหร่ ฉันต้องซักเสื้อผ้าทั้งหมดด้วยมือ เพราะเราไม่มีเครื่องซักผ้าบนเรือ และยิ่งเสื้อผ้าที่มีราคาแพงเท่าไหร่ เงินในบัญชีของฉันยิ่งมีน้อยลงเท่านั้น การที่เรามีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้เราเห็นลำดับความสำคัญของสิ่งรอบตัวเราเปลี่ยนไป แทนที่จะใช้จ่ายรุ่ยร่ายซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมหรือเครื่องสำอาง เราหมดเงินไปกับของอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะอาหาร ทำไมน่ะหรือ ทุกคนคงคิดว่าเราคงเดินไปตลาดสดหรือซุปเปอร์มาเก็ตได้ตลอดเวลา แต่ในทางกลับกันเราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ตอนนี้เราอยู่ที่ประเทศเปอร์โตริโกถือว่าเราโชคดีมากที่เราสามารถหาซื้ออาหารได้เกือบจะทุกประเภท รวมทั้งเครื่องปรุงอาหารไทยหรืออาหารอื่นๆ โดยที่ราคาที่ไม่แพงมากนัก ปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่สามารถเดินหิ้วถุงช้อปปิ้งและอุ้มมาเรีย ดีที่มีน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัมเดินกลับมาที่เรือ ระยะทางใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง แท็กซี่เป็นทางเลือกนึงแต่ราคาค่าโดยสารที่เปอร์โตริโกก็ถือว่าแพงเอาการอยู่ ทำไมไม่ขึ้นรถเมล์ล่ะ ที่นี่ไม่มีรถโดยสารประจำทาง! ประชากรที่นี่มีกำลังซื้อทำให้คนส่วนใหญ่มีรถยนต์ส่วนตัว รถเมล์จึงไม่ใช่สิ่งจะเป็นในชีวิตประจำวันของคนท้องถิ่น ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีการวางแผนจำนวนเสบียงอาหารอย่างรอบคอบให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการกินทิ้งกินขว้างตลอดการเดินทาง เพราะเราก็ไม่รู้ว่าสถานที่หรือท่าเรือต่อไปที่เราจะเดินทางไปถึงจะมีอาหารอุดมสมบูรณ์หรือไม่ 

ฉันโชคดีที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่จากครอบครัวเรือ ฟาตา มอร์กานา (Fata Morgana) เขาเริ่มออกเดินทางก่อนหน้าเราและมีประสบการณ์มาก่อน เราแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และความคิดเห็นจากมุมมองของคนที่มากันจากคนละซีกโลก หรือแม้กระทั่งการจัดการเรื่องเงิน ครอบครัวของเราทั้งสองใช้เวลาด้วยกันมาระยะหนึ่งตั้งแต่ที่ประเทศสาธารณะรัฐโดมินิกันและมาจนกระทั่งที่เปอร์โตริโก ฉันมีโอกาสได้ไปช้อปปิ้งตามประสาสาวๆ กับมิร่า (Mira) แม่บ้านของเรือ ฟาตา มอร์กานา (Fata Morgana) ที่ร้านขายของมือสองซัลเวชั่น อาร์มี่ (Salvation Army) ในตัวเมืองปงเซ่ (Ponce) ของเปอร์โตริโก ขอย้อนกลับไปตอนที่เราพยายามจะบริจาคข้าวของเครื่องใช้ก่อนที่จะเดินทางออกจากมาเก๊ามาอาศัยบนเรือใบ เราพยายามติดต่อองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรต่างๆ สอบถามเพื่อจะนำเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวอื่นๆ บริจาคให้แก่องค์กร แต่คำตอบที่เราได้กลับมาคือเขาไม่ต้องการสิ่งของแต่ต้องการเงินบริจาค นี่เป็นตัวอย่างการทำงานของหน่วยงานในมาเก๊าทั้งที่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลมาเก๊าปีละหลายล้านเหรียญแต่ยังต้องการเงินบริจาคเพิ่มเติม เอาเป็นว่าประสบการณ์ที่ฉันมีที่เมืองปงเซ่ (Ponce) ในเปอร์โตริโกดีกว่าที่มาเก๊าหลายเท่า ภายในร้านขายของมือสองของหน่วยงาน ซัลเวชั่น อาร์มี่ (Salvation Army) มีข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า และสิ่งของอื่นๆ จำนวนมากอยู่ แต่หลักๆ แล้วเห็นจะเป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้ามากกว่า ฉันตั้งใจไปที่นี่เพื่อเลือกซื้อเสื้อผ้าให้มาเรีย ดีโดยเฉพาะ เพราะอย่างที่เค้าว่าเด็กโตเร็วเหมือนสายฟ้าแล่บ ฉันไม่ถือเรื่องเสื้อผ้ามือสองถ้าสภาพยังดีอยู่ เสื้อผ้าเด็กที่มีอายุการใช้งานสั้นเพราะเด็กส่วนใหญ่โตกันเร็ว มิร่า (Mira) บอกกับฉันว่าสินค้าทั้งหมดภายในร้านราคาถูกและเราสามารถหาสาขาต่างของร้าน ซัลเวชั่น อาร์มี่ (Salvation Army) ได้ทั่วไปในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ฉันถึงกับอึ้งตอนจ่ายเงิน ฉันไม่ได้คาดหวังว่าสินค้าจะมีราคาถูกขนาดนี้ เสื้อผ้าเด็ก 4 ตัว ราคาเพียง 1 ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น (ประมาณ 8 เหรียญปาตากาส์มาเก๊า) เปรียบเทียบกับค่าเงินมาเก๊าเงินยังซื้อชานมไข่มุกแก้วนึงไม่ได้เลย 

ซัลเวชั่น อาร์มี่ เมืองปงเซ่
                     ตุ๊กตาหมี หุ่นมือเอลโม่ หนังสือการ์ตูนผ้า กางเกง 4 ตัว เสื้อ 4 ตัว หมวก 1 ใบ และเสื้อผู้ใหญ่อีก 2 ตัว                                        ทั้งหมดราคา 7 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ  
มาเรีย ดีสวมเสื้อและหมวกที่ซื้อมาจากร้านซัลเวชั่น อาร์มี่ ทั้งหมดราคาไม่ถึง 1 เหรียญ  
จับตุ๊กตาหมีมาซักกันหน่อย
การตุนเสบียงอาหารที่เปอร์โตริโกนั้นมีตัวเลือกห้างร้านจำนวนมาก เนื่องจากที่นี่เป็นดินแดนของประเทศสหรัฐอเมริกา ห้างร้านต่างๆ จึงเป็นบริษัทของอเมริกันซะส่วนใหญ่ ถ้าคุณคุ้นเคยหรือเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาบ่อยๆ คงจะรู้จักห้างขนาดใหญ่อย่างแซมส์คลับ (Sam’s Club) หรือ วอลมาร์ต (Walmart) แต่สำหรับเราๆ เพิ่งเคยมาเยือนเป็นครั้งแรก ครอบครัวเรือ ฟาตา มอร์กานา (Fata Morgana) บอกว่าครอบครัวเราเป็นคนแรกที่พวกเขารู้จัก ที่ไม่รู้จักว่าแซมส์คลับ (Sam’s Club) หรือ วอลมาร์ต (Walmart) เป็นยังไง ทั้งสองห้างนี้ถ้าเปรียบแล้วก็คล้ายกับบิ๊กซีที่เมืองไทยเรา หรือห้างคอนติเน้นท์ (Continente) ในประเทศโปรตุเกส ที่แซมส์คลับ (Sam’s Club) เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขายของปริมาณมากหรือชิ้นใหญ่ คล้ายๆ กับขายส่ง และลูกค้าทุกคนจำเป็นต้องมีบัตรสมาชิกเพื่อที่จะสามารถจับจ่ายของในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ คล้ายกับแมคโครบ้านเรา เราได้ยินมาว่าที่อเมริกาทุกคนต้องแสดงบัตรสมาชิกที่มีรูปของตัวเองบนบัตรก่อนจะเข้าห้างไม่อย่างนั้นพนักงานจะไม่ยอมให้เข้าไปในบริเวณซูเปร์มาร์เก็ต ค่าสมัครบัตรสมาชิกต้องเสียค่าใช้จ่าย 40 เหรียญสหรัฐ ครอบครัวเราตัดสินใจทำบัตรสมาชิกเพราะเราต้องตุนเสบียงก่อนจะล่องเรือไปยังทิศใต้ของทะเลแคริบเบียน มีคนเคยบอกเราว่ายิ่งเราล่องเรือลงไปทางทิศใต้ของทะเลแคริบเบียนเท่าไร ข้าวของยิ่งแพงเท่านั้น สิ่งที่ฉันสังเกตได้ในซุเปอร์มาร์เก็ตที่นี่คือพวกผลิตภัณฑ์จากเอเชีย เช่น พวกเต้าหู้ จะจัดอยู่ในมุมหมวดหมู่สินค้าเพื่อสุขภาพ ไวน์ที่นี่มีราคาแแพง ขวดที่ราคาต่ำกว่า 10 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐหาซื้อไม่ค่อยได้ ซึ่งถ้าราคาประมาณนี้ที่มาเก๊าหรือโปรตุเกสที่เราสามารถจิบไวน์คุณภาพดีได้เลย ส่วนใหญ่ไวน์ที่มีขายที่นี่จะมาจากฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน และไวน์จากโลกใหม่ (New World) อย่างสหรัฐอเมริกา ชิลี และเปรู
โฉมหน้าร้านแซมส์คลับ (Sam's Club)
อีโว่และมิร่าหน้าหน้าห้างวอลมาร์ต (Walmart)
มาเรีย ดี ในร้านโฮมดีโป
เมื่อวันที่เราไปเยี่ยมชมเมืองหลวงของเปอร์โตริโกชื่อว่า ซาน ฮวน (San Juan) เป็นครั้งแรกที่เราได้ดื่มเบียร์ซิงเต่าหลังจากที่ครอบครัวเราย้ายมาจากมาเก๊าและอาศัยอยู่บนเรือใบ ที่เมืองหลวงมีร้านอาหารเอเชียหลายร้าน เราหยุดทานอาหารมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารจีน เจ้าของร้านเป็นชาวจีนมาจากเมืองเซินเจิ้น ฉันเพลิดเพลินหลังจากอาหารเที่ยงมื้อนั้น เพราะได้ตุนเสบียงครัวไทยและครัวเอเชียไว้เต็มครัวบนเรือใบดี
เมนูอาหารไทยบนเรือใบดี
ตุนเสบียง
ร้านขายยาที่นี่มีขนาดใหญ่มาก คล้ายกับวัตสันในประเทศไทยและมาเก๊าที่ขายทุกอย่างตั้งแต่ยา เครื่องสำอาง ขนม หรือแม้แต่ของที่ระลึก ฉันแค่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเรียกว่าร้านขายยา เพราะร้านขายยาที่นี่มีขนาดใหญ่กว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตในประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน! ถ้าใครเดินทางมาที่นี่และต้องการที่จะซื้อยาคุมกำเนิดที่ร้านขายยา จำเป็นต้องมีใบสั่งยา ไม่อย่างนั้นไม่ว่าร้านขายยาที่ใดในเปอร์โตริโกจะไม่จ่ายยาให้เป็นอันขาด
ร้านขายยาที่เมืองซาน ฮวน (San Juan) 
ส่วนถ้าใครมีเพื่อนสี่ขามาด้วย เปอร์โตริโกน่าจะเป็นที่ๆ ดีที่สุดในทะเลแคริบเบียน ที่จะหายาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับสุนัขเพราะมีให้เลือกจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศอเมริกา ตามท้องถนนที่ฉันผ่านไปยังที่ต่างๆ มีร้านค้าและโรงแรมสำหรับสุนัขจำนวนมาก แต่ฉันไม่เคยเห็นผู้คนที่นี่พาสุนัขไปเดินเลย การที่จะนำสุนัขมาที่นี่ก็ไม่ยาก เพียงแค่มีเอกสารการฉีดวัคซีนครบก็สามารถเดินทางเข้ามายังเปอร์โตริโกได้ ไม่ยุ่งยากเหมือนประเทศอื่นๆ เช่น หมู่เกาะเวอร์จิ้นของอังกฤษ (British Virgin Islands) ฟิจิ ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ เป็นต้น
เครื่องสลักชื่อสำหรับสร้อยคอสุนัข 5 เหรียญ
สามารถจ่ายเป็นเงินสดหรือบัตรเครติต
ค่าครองชีพของคนที่มีลูกเล็กเด็กแดงที่นี่ก็ดูเหมือนว่าจะต่ำกว่าที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน เพราะไม่ว่าราคารถเข็นเด็ก เสื้อผ้า ผ้าอ้อม และอาหารสำเร็จรูปสำหรับทารกที่นี่มีราคาถูกกว่า เก้าอี้นั่งโต๊ะกินข้าวสำหรับเด็ก หรือไฮแชร์ร้านอาหารทั้งหมดที่เราไปมาในเปอร์โตริโกมักจะมีเก้าอี้สำหรับเด็กเสมอ คาดว่าอาจจะเป็นเพราะกฎระเบียบของประเทศสหรัฐอเมริกา! ส่วนเตียงสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กภายในห้องน้ำก็พบได้ในห้องน้ำสาธารณะเกือบทุกที่ทั้งห้องน้ำชายและหญิง

ขณะที่เราเดินทางล่องเรือมาถึงทีเปอร์โตริโกเรายังต้องซ่อมแซมเรือใบดีบางส่วน ซึ่งที่นี่สะดวกในการหาอะไหล่เพื่อการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาเรือใบดีกว่าที่สาธารณรัฐโดมินิกัน มีร้านค้าขนาดใหญ่ที่ขายอุปกรณ์ซ่อมแซมอย่างโฮมดีโป ฉันรู้สึกเศร้านิดหน่อยที่เรามาจากเมือง "Made in China" แต่ถ้าเราซื้อของที่นี่ เราเสียเงินมากกว่าที่เราเคยจ่าย อุปกรณ์และเครื่องไฟฟ้าต่างๆ เกือบทุกอย่างผลิตในประเทศจีน ตัวอย่างสินค้าที่ราคาแพงที่นี่แต่ราคาถูกกว่าที่ประเทศจีน เช่น หลอดไฟ LED แผงพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์พาแนล) และแบตเตอรี่ เป็นต้น ในทางตรงกันข้ามอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น เครื่องปั่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้าและทีวีที่เปอร์โตริโกราคาถูกกว่าที่มาเก๊ามาก 

ครอบครัวเรามาจากสถานที่ๆ ใช้เงินสกุลดอลล่าร์ฮ่องกงและเงินหยวนเป็นหลัก เรากลัวที่จะต้องจับจ่ายสิ่งของต่างๆ ด้วยเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เพราะอย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าเป็นสกุลเงินหลักที่หมุนเวียนในธุรกิจโลก แต่ถ้าให้เปรียบเทียบค่าครองชีพที่เปอร์โตริโก อาหาร การคมนาคมยังถือว่าต่ำกว่าค่าครองชีพที่มาเก๊าและฮ่องกงอยู่มาก 

ชีสเค้กทอด ที่เมืองเปอร์โตเรียล
หมูแดงจานแรกที่เราได้ทานในแคริบเบียน 
เครื่องดื่มจากเมืองเปอร์โตริโก น้ำมะพร้าวโซดา  
ขนมเค้กท้องถิ่น ในเมืองซาน ฮวน ชิ้นละ 1 เหรียญ

0 comments:

แสดงความคิดเห็น